(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค.60 โต 0.86%, Core CPI โต 0.58%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 1, 2017 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนต.ค.60 อยู่ที่ 101.38 ขยายตัว 0.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.16% จากเดือน ก.ย.60 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ยช่วง 10 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.62%

ส่วน Core CPI เดือน ต.ค.60 อยู่ที่ 101.53 ขยายตัว 0.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือนก.ย.60 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ยช่วง 10 เดือนปี 60 ขยายตัว 0.54%

ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 102.36 ขยายตัว 0.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.23% จากเดือน ก.ย.60 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 100.84 ขยายตัว 1.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.12% จากเดือน ก.ย..60

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ในกรอบ 0.4-1.0%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค.60 ปรับตัวสูงขึ้น 0.86% จากเดือนที่ผ่านมา เป็นผลจากการปรับขึ้นของราคารผักสดช่วงเทศกาลกินเจ, ราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซียมีแผนขยายเวลาลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปี 61 จากเดิมในเดือน มี.ค.61 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการปรับขึ้นราคาสินค้าบุหรี่และสุราจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ในเดือนก่อนหน้า

ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 0.62%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ว่าจะอยู่ในระดับ 0.4-1.0% โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 4/60 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1% ส่วนแนวโน้มในปี 61 นั้นจะขอติดตามสถานการณ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ก่อนจะสรุปออกมาเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้าต่อไป

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อ คือ 1.อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการผลิตและรายได้เกษตรกร และมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ 2.การส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับจากการฟื้นตัวของการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

3.การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 60 ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากผลของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียขยายเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปถึงสิ้นปี 61 และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินในภูมิภาคเอเชียเริ่มทรงตัว ซึ่งส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเงิน

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อของปี 60 ที่คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.4-1.0% มาจากสมมติฐานหลัก 3 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3-4% โดยเชื่อว่าจะมีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงขึ้นและการส่งออกที่ฟื้นตัว 2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปีนี้อยู่ที่ระดับ 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

และ 3.อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ อยู่ที่ระดับ 33.50-34.50 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงปลายปีจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หลังจากนักลงทุนต่างชาติคลายกังวลสถานการณ์ทางการเมืองของไทย ความไม่แน่นอนในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ