(เพิ่มเติม) ธปท.เผยสินเชื่อ แบงก์พาณิชย์ Q3/60 ทรงตัว กำไรลดจากตั้งสำรองเพิ่ม มองแนวโน้ม NPL สูงสุดใน Q4/60

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 10, 2017 17:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 60 ว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัวที่ 3.3% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชำระคืนหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ สอดคล้องกับภาพรวมการระดมทุนของภาคเอกชนผ่านตราสารหนี้ที่ขยายตัวชะลอลง ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ตสินเชื่อ ทั้งนี้ หากรวมสินเชื่อและการระดมทุนผ่านตราสารหนี้จะขยายตัวที่ 4.5%

สินเชื่อธุรกิจ (67% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 2.2% ชะลอลงจาก 2.7% ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SME โดยในส่วนของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 4.2% ซึ่งชะลอลงส่วนหนึ่งจากการชำระคืนหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดีมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นในธุรกิจพลังงาน ขนส่ง และบางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 2.4% โดยเพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงาน อสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (33% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน จากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 5.6% ตามทิศทางการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ กอปรกับสินเชื่อรถยนต์เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 7.0% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวต่อเนื่องและส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อน นอกจากนี้ สินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% และ 3.1% ตามลำดับ

“เชื่อว่าการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 4/60 จะโตต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยเรื่องของฤดูกาล ทำให้คาดว่าทั้งปีสินเชื่อจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 4%"น.ส.ดารณี กล่าว

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ภาพรวมสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Nonperforming Loan : NPL) ต่อสินเชื่อรวม เริ่มทรงตัวที่ 2.97% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.95% โดยมียอดคงค้าง NPL ที่ 428 พันล้านบาท ขณะที่คุณภาพสินเชื่อของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังด้อยลงต่อเนื่อง ทั้งนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan : SM) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.72% อย่างไรก็ดีระบบธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ ทำให้เงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 584 พันล้านบาท โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ที่ 166.2%

ทั้งนี้ คาดว่า ในไตรมาส 4 NPL จะเพิ่มขึ้นสูงสุด แต่ในอัตราที่ชะลอลง และปี 61 จะเริ่มทรงตัวและทยอยปรับตัวลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการขยายตัวของสินเชื่อ โดย NPL ที่เพิ่มขึ้น มาจากคุณภาพสินเชื่อของธุรกิจ SME ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.63% จากไตรมาสก่อนที่ 4.42% และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ 3.26% จากไตรมาสก่อนที่ 3.06%

น.ส.ดารณี กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.อยู่ระหว่างการจับตามองอย่างใกล้ชิดถึงคุณภาพสินเชื่อด้อยลงในธุรกิจพาณิชย์ อุตสาหกรรม และภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ที่มีสัดส่วน NPL เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้จะเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นแต่ก็อยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง โดยในส่วนของการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีปัญหาจากช่วง 3 ปีก่อนที่มีการแข่งขันให้อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำ 3 ปี เมื่อปัจจุบันดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก็ทำให้มีปัญหาการผ่อนชำระบ้าง ส่วนการให้สินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ยังมีปัญหาโอเวอร์ซัพพลายในบางพื้นที่ เช่นตามแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น

ส่วนกรณี บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ขายโครงการนิมิตรหลังสวนทั้งโครงการ และห้องชุดในโครงการมหานคร เพื่อนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้นั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกับบริษัทเท่านั้น

ในไตรมาส 3 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 46.7 พันล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนจากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(Return on Asset : ROA) ลดลงมาอยู่ที่ 1.04% จากไตรมาสก่อนที่ 1.09% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ค่อนข้างทรงตัวที่ 2.78%

และมีแนวโน้มทั้งปีจะมีกำไรสุทธิลดลง โดยในปี 2561 คาดว่า ธนาคารพาณิชย์จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงจากนโยบายพร้อมเพย์ แต่หากสามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นรายได้จากดอกเบี้ยก็น่าจะดีขึ้น ขณะเดียวกันในปี 2561 หากสถานการณ์ NPL เริ่มทรงตัวค่าใช้จ่ายในการกันสำรองก็จะไม่เพิ่ม หลังจากที่ไตรมาส 3/2560 สัดส่วนเงินกันสำรองเพิ่มขึ้นเป็น 166.2% จากไตรมาสก่อนที่ 160%

ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสิ้น 2,447 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรกำไรและการเพิ่มทุน โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 18.4% และ 15.8% ตามลำดับ

"สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ทรงตัว โดยสินเชื่อธุรกิจกระจุกตัวในธุรกิจบางประเภท ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับคุณภาพสินเชื่อ NPL โดยรวมเริ่มทรงตัว แต่ยังด้อยลงในส่วนของธุรกิจ SME โดยคาดว่าจะสูงสุดในช่วงไตรมาส 4/60 ซึ่งสะท้อนผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจากการกันสำรองเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง อย่างไรก็ดีระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และ สภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ