กนพ. เว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุใน 5 จ.เป็นเวลา 2 ปี-เห็นชอบเร่งดำเนินโครงการและมาตรการสำคัญใน 10 เขต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 17, 2017 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ได้พิจารณาประเด็นการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ

1.การสรรหาและคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเห็นชอบมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษตาก กาญจนบุรี นครพนม มุกดาหาร และหนองคาย เป็นเวลา 2 ปี หากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 10% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปีที่ 1 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า และยกเว้นค่าเช่าฯ เป็นเวลา 1 ปี หากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 10% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ในปีที่ 2 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่ม ทั้งนี้สิทธิประโยชน์จะสิ้นสุดภายในปี 2563

นอกจากนี้ เห็นชอบให้กรมธนารักษ์ไปปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียดในการสรรหาและคัดเลือกผู้ลงทุนในพื้นที่พัฒนาเพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงการคลังพิจารณาปรับแนวทางและมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ชัดเจนเพื่อกระตุ้นการค้า การลงทุน และการบริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้มากขึ้น

2.การบริหารจัดการที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยในส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ในส่วนของที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์ครอบครองและยินยอมเจรจากับภาครัฐ เห็นชอบให้มีการแลกเปลี่ยนที่ดินและชดใช้เงินตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พื้นที่พัฒนาเป็นผืนเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการพัมนาต่อไป นอกจากนั้นยังเห็นชอบให้ปรับขนาดของที่ดินเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของ กนอ.รวมทั้งเห็นชอบในหลักการให้กรมศุลกากรใช้ประโยชน์ที่ดินในการพัฒนาบางส่วนจำนวน 120 ไร่ เพื่อจัดตั้งด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม เห็นชอบให้กันที่ดินราชพัสดุ แปลงที่ 1 บางส่วน ในบริเวณที่ติดกับที่พักสงฆ์สามัคคีอุปถัมภ์ออกประมาณ 42-1-17.10 ไร่ เพื่อคงไว้ตามสภาพเดิม ส่วนพื้นที่ที่เหลือประมาณ 1,363-2-17.10 ไร่ ให้ดำเนินการเปิดประมูลให้เอกชนเช่า

3.การตลาดและประชาสัมพันธ์ เห็นชอบกรอบแนวทางการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเน้นเป็นรายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากในและต่างประเทศ ส่งเสริมและพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ และให้มีคณะขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เป็นกลไกบูรณาการจัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์รายพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.60 ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามประชารัฐ การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และจังหวัดในการประชาสัมพันธ์ โดยมีการปรับปรุงการดำเนินงานและรายงานความก้าวหน้าต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

4.การดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป ดังนี้ เร่งรัดการดำเนินโครงการและมาตรการสำคัญใน 10 เขตฯ ให้แล้วเสร็จเพื่อเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโนงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยกำหนดพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ ได้แก่ ตาก สงขลา สระแก้ว และมุกดาหาร เน้นพัฒนาให้เชื่อมโยงและเกื้อกูลกับประเทศเพื่อนบ้าน และให้มีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ อาทิ การเพิ่มศักยภาพ/ดอกาสการลงทุนของ SMEs และการเปิดโอกาสให้เอกชนเสนอโครงการลงทุนและรัฐพิจารณาสนับสนุนโครงการ/มาตรการที่เหมาะสม

ส่วนในอีก6 เขต เน้นการท่องเที่ยว การค้า และบริการ ได้แก่ ตราด หนองคาย นครพนม เชียงราย กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยกำหนดบทบาทที่ควรสนับสนุนในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ มอบหมายให้ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ กำหนดพื้นที่และศูนย์บริการเบ้ดเสร็จด้านการลงทุน พิจารณาความเหมาะสมในการกำหนดมาตรการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนตามจุดเน้นการพัฒนาในพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ และการสนับสนุน SMEs ในการลงทุน, ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานตามแนวทางฯ ให้บรรลุผล โดยเฉพาะในพื้นที่ศักยภาพการลงทุนสูง 4 เขตฯ และเร่งดำเนินโครงการ/มาตรการสำคัญใน 10 เขตฯ ให้แล้วเสร็จ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ