นายกฯ ประชุมบอร์ด EEC ย้ำเร่งผลักดันการลงทุนหวังเป็นโครงการนำร่องก่อนขยายไปยังพื้นที่อื่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 22, 2017 14:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ขณะนี้มีผู้เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการแล้วจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปี โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในปี 2561 นี้ มีการเสนอโครงการมาแล้วกว่า 100 ราย จึงเป็นการยืนยันได้ว่า รัฐบาลไม่ได้บิดเบือนข้อมูล เพราะผู้ร่วมทุนมีทั้งบริษัทต่างประเทศและบริษัทในประเทศไทยเอง ที่ลงทุนในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมเดิมของเอกชนและในพื้นที่อุตสาหกรรมของรัฐ สำหรับการจ้างงานในระยะแรก อาจจะต้องเกิดการจ้างงานทั้งคนไทยและอาจจะต้องเสริมจากแรงงานต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสาขาที่เราขาดแคลน เพื่อเป็นการพัฒนาคนตามเป้าหมาย

นอกจากต้องส่งเสริมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ขอให้พิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งเสริมการลงทุน โดยขอให้ดูถึงความเชื่อมโยงกับวัตถุดิบหรือสินค้าที่ประเทศไทยมี

ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งพัฒนาความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศที่จะเข้ามาในพื้นที่ EEC ซึ่งโครงการ EEC ไม่เพียงจะสร้างประโยชน์ให้ 3 จังหวัด คือชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยองเท่านั้น แต่จะสร้างประโยชน์โดยรวมให้กับประชาชนทั้งประเทศ โดย EEC ถือเป็นโครงการนำร่องก่อนที่จะพิจารณาให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ โดยจะพิจารณาถึงความเหมาะสมที่แตกต่างกัน

"วันนี้รัฐบาลเร่งผลักดัน EEC เพื่อใคร และต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า หากสามารถให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชน"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ แต่มุ่งดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด โดยยึดหลักการเคารพ คุ้มครองและเยียวยา นอกจากนี้บริษัทต่างๆที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาก็จะต้องร่วมดูแลประชาชนผ่านกิจกรรมและกองทุนต่างๆ

"การทำงานในเวลานี้ อยากทำให้เกิดความชัดเจน และให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในการทำงานของรัฐบาลมากที่สุด สิ่งไหนที่มีปัญหา ตนเองพร้อมที่จะปลดล็อคให้ ด้วยวิธีทางกฎหมายที่ชอบธรรม เพื่อเดินหน้าพัฒนาประเทศ และเชื่อว่า คนไทยไม่อยากเห็นการใช้กฎหมายเชิงบังคับเพียงอย่างเดียว แต่อยากให้ใช้ความร่วมมือร่วมใจเห็นการพัฒนาประเทศในอนาคตไปพร้อมๆกับรัฐบาล และทุกคนต้องมุ่งเน้นว่า ประเทศไทยต้องการคนดี คนเก่ง มีคุณธรรม มีศีลธรรม เคารพศาสนา โดยอย่ามาชมเชยตนเองว่าเป็นคนดีเพียงคนเดียว ซึ่งมีอีกหลายคนที่ดี แต่ตนเองเป็นคนที่มีความพยายามที่อยากจะทำในสิ่งที่พูดมาดังกล่าว

และขออย่ามองว่ารัฐบาลนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน เพราะส่วนตัวไม่ต้องการที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับใครทั้งสิ้น ส่วนเรื่องที่ขอความร่วมมือให้แจ้งเรื่องการทุจริตมายังตนเองนั้น ยืนยันว่า แม้การทุจริตจะไม่มีใบเสร็จ แต่จำเป็นต้องมีข้อมูลหลักฐานเบื้องต้นจากประชาชน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ดังนั้นข้อมูลจากประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ"

นายกรัฐมนตรี ยังได้ขอความร่วมมือในการสร้างโซเซียลมีเดียที่สร้างสรรค์ ด้วยจิตสำนึกอุดมการณ์และความรักชาติ อย่าให้ต้องบังคับใช้กฎหมาย จนนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่อยากให้ทุกคนคิดว่า ถ้าต้องการได้สิ่งดี ก็ให้ทำสิ่งดีๆให้กับประเทศด้วย โดยต้องร่วมมือกันกับรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ