สรรพากร เปิดรับฟังความเห็นมาตรการภาษีสนับสนุนการมีบุตรถึง 13 ธ.ค.ก่อนสรุปเสนอครม.-สนช.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 8, 2017 10:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามมาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กรณีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) ถึงวันที่ 13 ธ.ค.60

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วในครั้งแรกเป็นเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 25 ก.ย.-16 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็น 25 ราย ประกอบด้วย เห็นด้วย 18 ราย ไม่เห็นด้วย 7 ราย และไม่แสดงความคิดเห็น 260 ราย

อนึ่ง ในปีภาษี 2560 รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าเลี้ยงดูบุตรจากคนละ 15,000 บาทต่อปี เป็นคนละ 30,000 บาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มมีผลในปีภาษี 2560 และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2561

แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้นจึงเสนอเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ได้รับค่าลดหย่อน 60,000 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีอัตราการเกิดของประชากรลดลงทำให้อัตราส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี รัฐบาลจึงมีนโยบายให้มีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร เพื่อจูงใจให้ผู้มีเงินได้ที่มีบุตรเพิ่มขึ้นได้รับการบรรเทาภาระภาษี อันจะส่งผลให้มีศักยภาพเพียงพอแก่การเลี้ยงดูบุตรให้เติบโตอย่างมีคุณภาพในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพากร จะได้นำผลการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กรณีมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร) ต่อไป

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้เป็นการปรับปรุงเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการปรับโครงสร้างภาษีใหญ่ที่ทำไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยได้เปิดให้ประชาพิจารณ์เพื่อต้องการนำความเห็นของภาคประชาชนมาร่วมพิจารณาให้เกิดข้อมูลที่รอบด้าน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี และสำนักงานคณะกรรมการกฎษฎีกา รวมถึงสภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะออกมาบังคับใช้ได้ในปี 2561 และเปิดให้มีการยื่นลดหย่อนได้ในต้นปี 2562


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ