สกรศ.เตรียมส่งข้อเสนอหลังรับฟังความเห็นร่าง กม.EEC ให้ประธาน สนช.-นายกฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 14, 2017 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) รายงานชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่มีข้อเสนอ 4 ข้อ

ข้อเสนอดังกล่าวที่จะยื่นต่อ สนช.รวม 3 ข้อ คือ 1.ควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายดังกล่าวในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนเสนอความเห็น ข้อกังวล เป็นรายมาตราอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน

2.ควรพิจารณาแก้ไขมาตรา 36 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็นและต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม

และ 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 มาตรา 43 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาต หรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น

ส่วนข้อเสนอต่อ ครม.คือ ควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ หลังปี 2558-2573

"ข้อเสนอ 1-3 เป็นข้อเสนอที่จะส่งให้รัฐสภา ส่วนข้อ 4 จะเสนอคณะรัฐมนตรี โดย กสม.จะทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2560" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ