พาณิชย์ เผยส่งออก พ.ย.60 ขยายตัว 13.4%จากตลาดคาด 7.15%, นำเข้าโต 13.7% เกินดุลการค้า 1,763 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 21, 2017 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน พ.ย. 60 โดยการส่งออก มีมูลค่า 21,434.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.4% ขณะที่ตลาดคาดว่าการส่งออกจะขยายตัว 7.15% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,671.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,763 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับในช่วง 11 เดือนของปี 60 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 216,953 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10%, นำเข้ามีมูลค่า 202,744 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 14.5% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 14,208 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ มั่นใจว่าภาพรวมการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 10% อย่างแน่นอน

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน พ.ย.60 ถือว่าขยายตัวสูงสุดในรอบปี และมีอัตราการขยายตัวเป็น 2 หลักต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งการส่งออกถือว่าขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 79 เดือน และตลาดอาเซียน (5) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 21 เดือน

ขณะที่การส่งออกรายสินค้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยเฉพาะข้าว และไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่มีการขยายตัวในระดับสูงทั้งด้านปริมาณและราคา ส่วนกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 โดยสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง, รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรสาร, โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สำหรับแนวโน้มการส่งออกของปี 60 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูง และมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 10% อย่างแน่นอน ที่มูลค่าประมาณ 2.36 แสนล้านดอลลาร์ "ปีนี้เชื่อว่าส่งออกโตเกิน 10% แน่นอน แต่จะเกินไปเท่าไรนั้นคงต้องรอดูการส่งออกเดือนธ.ค.นี้ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การส่งออกในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ทำได้แล้ว 10% ถือว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบรายปี" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว พร้อมระบุว่า สำหรับประเด็นเรื่องเงินบาทแข็งค่านั้น เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากผู้ส่งออกได้ทำการ Quote ราคาสินค้าล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ทั้งนี้ในปีหน้า เงินบาทมีโอกาสจะปรับตัวอ่อนค่าลงจากปีนี้ เนื่องจากสหรัฐฯมีการผ่านมาตรการปฏิรูปภาษี ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกจะต้องให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยงให้มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็น SMEs น.ส.พิมพ์ชนก ยังคาดว่าการส่งออกในปี 61 จะสามารถเติบโตได้ 6-7% โดยการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปัจจัยด้านปริมาณเป็นสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกขยายตัวได้ดี ซึ่งล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ได้คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปีหน้าว่าจะขยายตัวได้ 9.2% ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั้งยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนเริ่มฟื้นตัว อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเล็กน้อยจากปีนี้ และเริ่มจะเข้าสู่จุดที่สมดุล นอกจากนี้ การส่งเสริมอุตสาหกรรมหลักที่เป็นเป้าหมายของไทย จะส่งผลให้มีผู้ผลิตรายใหม่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยมากขึ้น รวมทั้งมีผู้ส่งออกไทยรายใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะต่อไปได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไทยในปีหน้าที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง คือ ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก, ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ "การส่งออกในปีหน้ามีลุ้นที่ 6-7% แต่ถ้ามีความเป็นไปได้สุดก็ในช่วง 6-6.5% ซึ่งเท่าทีดูจากความสามารถในการส่งออกตลอดช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาที่ส่งออกได้เกินเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็เชื่อว่ามีลุ้น" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว ทั้งนี้ หากจะให้การส่งออกในปีหน้าขยายตัวได้ในระดับ 6% ที่มูลค่ารวมประมาณ 2.5 แสนล้านดอลลาร์นั้น มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องไม่ต่ำกว่า 20,800 ล้านดอลลาร์ แต่หากจะให้ขยายตัวในระดับ 6.5% ที่มูลค่ารวมประมาณ 2.51 แสนล้านดอลลาร์นั้น มูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนจะต้องไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับสมมติฐานที่นำมาใช้ประเมินการส่งออกของไทยในปีหน้านั้น ประกอบด้วย 3 ตัวหลัก คือ เศรษฐกิจไทยในปี 61 ขยายตัวได้ 4%, ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อยู่ที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน อยู่ในกรอบ 33.00-35.00 บาท/ดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ