(เพิ่มเติม) สนพ.คาดการใช้พลังงานขั้นต้นปี 61 โต 2.1% จากปีนี้โต 2.4% ตามการขยายตัวของจีดีพี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 21, 2017 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สนพ.โดยศูนย์พยากรณ์และสารสนเทศพลังงาน สรุปสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยในปี 60 โดยมีการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการใช้อยู่ที่ 2.75 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งการใช้น้ำมัน การใช้ไฟฟ้านำเข้า การใช้พลังงานทดแทน ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ

เนื่องจากแหล่งก๊าซยาดานา เยตากุน และซอติก้าของเมียนมา หยุดจ่ายก๊าซในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ประกอบกับแหล่ง JDA –A18 ในอ่าวไทยหยุดซ่อมบำรุงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และตุลาคมส่งผลให้ก๊าซฯลดลงจากระบบ การเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ 3.9% ซึ่งเติบโตทั้งจากการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนโดยรวม ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน

ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์พลังงานในปี 61 คาดว่าการใช้พลังงานขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นจากปี 60 ประมาณ 2.1% หรือใช้อยู่ที่ประมาณ 2.81 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน โดยพิจารณาจากปัจจัยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอยู่ที่ 34-35 บาท/เหรียญสหรัฐ และการคาดการณ์ GDP ของสภาพัฒน์จะขยายตัวที่ 3.6-4.6%

นายทวารัฐ กล่าวว่า การใช้พลังงานขั้นต้นปี 61 ที่เพิ่มขึ้นนี้จะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะมีการใช้ลดลง โดยการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด 7.1% เมื่อเทียบกับปี 60 เป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของภาครัฐ การใช้น้ำมันเพิ่ม 2.2% จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และราคาน้ำมันที่คาดว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำ ลิกไนต์และถ่านหินนำเข้าเพิ่ม 1.2% โดยเฉพาะการใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม การใช้ไฟฟ้านำเข้าเพิ่ม 0.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากฐานการนำเข้าจาก สปป.ลาว ที่สูงในปี 2560 ส่วนก๊าซธรรมชาติลดลง 1.2% จากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และการใช้ในภาคขนส่ง (NGV) ลดลง

การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปปี 61 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นน้ำมันเตาและ LPG โดยการใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบปี 60 (การใช้ 31.2 ล้านลิตร/วัน) ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายปลีกในประเทศที่คาดว่ายังอยู่ระดับต่ำ และผู้ใช้รถ LPG หันมาใช้น้ำมันแทนอย่างต่อเนื่อง ดีเซลเพิ่ม 2.7% (การใช้ 65.5 ล้านลิตร/วัน) น้ำมันเครื่องบินเพิ่ม 4.3% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ น้ำมันเตา ลดลง 6.7% (การใช้ 5.4 ล้านลิตร/วัน) และ LPG ที่ไม่รวม Feedstock ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลดลง 1.2% (การใช้ 21.3 ล้านลิตร/วัน)

ภาพรวมการใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ปี 61 คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้น 5.0% โดยการใช้ในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 5.7% ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2.5% เป็นไปตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการใช้ในรถยนต์คาดว่าจะลดลง 10.9% ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 58 จากการที่ผู้ใช้บางส่วนเปลี่ยนไปใช้น้ำมันซึ่งมีราคาถูกแทน ส่วนการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเพิ่มขึ้น 17.8% ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวดีขึ้น

การใช้ไฟฟ้า ปี 61 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 192,923 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4.1% ตามภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ