ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ส่งออกปี 61 ยังโตต่อเนื่องที่ 4.5% จับตาความผันผวนราคาน้ำมัน-ค่าเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 27, 2017 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 61 จะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้ แต่จะผ่อนแรงลงตามปัจจัยฐานที่สูงในปี 2560 ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตลอดจนวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผ่อนแรงลง ทำให้การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2561 ชะลอลงมาอยู่ที่ 4.5% (ในช่วงกรอบประมาณการที่ 2.0-7.0%)

"เมื่อมองไปในช่วงปี 2561 โมเมนตัมการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการค้าโลกคาดว่าจะยังเป็นแรงสนับสนุนหลักของการส่งออกสินค้าของไทยในปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในปี 2561 แม้จะขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง แต่จะผ่อนแรงลงจากปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 9.0-10.0% มาอยู่ที่ 4.5%" เอกสารเผยแพร่ระบุ

โดยมีเหตุสนับสนุน ดังนี้ 1.ผลทางด้านราคาน้ำมันดิบต่อการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะอ่อนแรงลงในปี 2561 จากอัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันดิบที่ชะลอลง โดยทิศทางราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2561 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในช่วง 52-60 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 55 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 52 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล หรือราว 5% แตกต่างจากปี 2560 ที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปรับขึ้นประมาณ 27% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 41.3 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล

2.วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะแผ่วลงในปี 2561 หลังจากในปี 2560 เร่งตัวไปมาก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ในช่วงกรอบ 2.3-4.4% จากปีก่อนหน้าที่ช่วง 11 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ย.) ขยายตัวสูงถึง 10.7%

3.การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรจำพวกสินค้าโภคภัณฑ์คาดว่าจะชะลอลงในปี 2561 จากแรงกดดันทางด้านราคาในตลาดโลกตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินในปีหน้า อาทิ น้ำตาล ยางพารา

4.ฐานเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกโดยรวมที่สูงในปี 2560 จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในปี 2560 แผ่วลง

นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยทางด้านภาษีการค้าระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ ที่คาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกในปี 2561 ไม่ว่าจะเป็น 1.ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA: ASEAN-China Free Trade Area) ที่ตั้งแต่ 1 ม.ค.61 การส่งออกสินค้าอ่อนไหว (Sensitive lists) ที่อยู่ในความตกลง ACFTA จะมีอัตราภาษีศุลกากรลดลงมาอยู่ในช่วง 0-5% (จากเดิมที่มีภาษีไม่เกิน 20%) ซึ่งคาดว่าจะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนได้เพิ่มขึ้น โดยสินค้าอ่อนไหวที่จีนลดภาษีนำเข้าให้อาเซียน ได้แก่ กาแฟ ปลายข้าว น้ำสับปะรด น้ำลำไย น้ำมะพร้าว ยาสูบ ไม้อัด กระดาษ/กระดาษแข็ง ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง ขนสัตว์ ฝ้าย เฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

2.มาตรการลดภาษีการส่งออก (Export Tariffs) ของจีนในปี 2561 ที่คาดว่าจะช่วงสนับสนุนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลางของไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.60 ทางการจีนได้ประกาศว่า ในปี 2561 จะมีการปรับลดภาษีส่งออกในสินค้าหลายกลุ่มเพื่อกระตุ้นการส่งออกและอุตสาหกรรมในประเทศของจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT: Information Technology) ที่คาดว่าจะเริ่มมีการลดภาษีการส่งออกตั้งแต่ 1 ก.ค.61 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้ผลิตจีนมีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับการผลิตสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มขึ้น จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยไปจีนในระยะข้างหน้า

3.การยกเลิกโควต้าการนำเข้าข้าวและหันมาเก็บภาษีนำเข้าข้าวในอัตรา 35% แทนของฟิลิปปินส์ เพื่อหนุนให้ภาคเอกชนมีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งการยกเลิกการกำหนดโควต้าการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ก็น่าจะเป็นโอกาสของการส่งออกข้าวไทยไปฟิลิปปินส์ในระยะข้างหน้า

"อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามปัจจัยด้านความผันผวนของราคาน้ำมันดิบที่จะส่งผลต่อมูลค่าการส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่อาจจะได้รับความผันผวนจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักของโลกที่มีทิศทางตึงตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก" เอกสารเผยแพร่ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ