สศค. คาด GDP ปี 60 มีลุ้นโตกว่าคาดที่ 3.8% เล็งปรับประมาณการใหม่ หลังเครื่องชี้ศก.หลายตัวปรับดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 28, 2017 12:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพ.ย. 2560 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในด้านอุปสงค์ พบว่า การส่งออกสินค้า การบริโภคสินค้าคงทน การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราเร่งและได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี ส่วนในด้านอุปทาน พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง บวกกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น

"ประเมินว่าภาพรวม GDP ปี 60 น่าจะโตได้สูงกว่าคาดการณ์ที่ 3.8% หลังจากในช่วง 2 เดือนของไตรมาส 4/60 เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวขยายตัวได้ดีกว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ดีจะต้องรอประมวลข้อมูลที่ถูกต้อง และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง"นายพรชัย กล่าว

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 1.6% ต่อปี สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 นับตั้งแต่ต้นปี และขยายตัวสูงถึง 34.9% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 5.7% ต่อเดือน สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันโดยขยายตัว 11.9% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัว 4.0% ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.7% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 8.8% ต่อเดือน

นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนพ.ย.60 หดตัว -6.0% ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 65.2 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.1% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออกขยายตัว 5.5% ต่อเดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่องที่ 12.5% ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึง 11.0% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศกลับมาขยายตัวที่ 6.4% ต่อปี เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี 2560 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 8.7% ต่อเดือน ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 1.2% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนพ.ย.60 ขยายตัว 3.6% ต่อปี

อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันและถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบปี โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวสูงถึง 13.4% ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลขยายตัว 6.0% ต่อเดือน ทั้งนี้ หมวดสินค้าสำคัญที่สนับสนุนการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง และ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 อาเซียน-5 จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้า ขยายตัวต่อเนื่องที่ 13.7% ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าที่มากกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุลจำนวน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือนพ.ย. 60 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.02 ล้านคน ขยายตัว 23.2% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีจากจีน เกาหลี รัสเซีย ลาว กัมพูชา และอินเดีย เป็นหลัก

สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร หดตัวชะลอลงที่ -0.6% ต่อปี จากหมวดประมงและหมวดปศุสัตว์ อย่างไรก็ดี หมวดพืชผลสำคัญยังขยายตัวได้ดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนพ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 87.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศจากมาตรการช็อปช่วยชาติ การใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เป็นแรงกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภค การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการภาครัฐ กอปรกับผู้ประกอบการได้ปรับเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพ.ย. 60 อยู่ที่ 0.99% และ 0.61% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนพ.ย.60 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนต.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 41.7% อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพ.ย.60 อยู่ที่ระดับ 203.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.5 เท่า

นยพรชัย กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกที่ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งหลังจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังขยายตัวได้เป็นอย่างดีส่งผลให้ 11 เดือนของปี 60 ตัวเลขส่งออกโตถึง 10% แล้ว ทำให้คาดว่าทั้งปีนี้ส่งออกจะโตได้เป็น 2 Digit จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะโต 8.5%

สำหรับในปี 61 ยังมีปัจจัยสำคัญทั้งในและต่างประเทศที่ต้องจับตา โดยในส่วนปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งตลาดรับรู้ไปแล้วว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3-4 ครั้ง แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เพราะคาดว่าจะยังมีอีกหลายนโยบายของสหรัฐฯออกมา และยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีเหนือ ตะวันออกกลาง ที่แม้จะไม่มีผลกระทบต่อไทย เพราะคู่ค้าหลักของไทยอยู่ที่จีน และอาเซียน แต่ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ส่วนปัจจัยภายในประเทศยังต้องติดตามเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ส่วนสถานการณ์การเมือง เริ่มสร้างความเชื่อมั่นหลังจากมีความชัดเจนเรื่องกรอบระยะเวลาการเลือกตั้ง

"ปีหน้าปัจจัยต่างๆ ยังสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่ยังคงเติบโตได้ดี มองว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวต่อเนื่องในลักษณะที่เข้มแข็งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งทำได้ดีกว่าที่คาดการณ์ โดยปีนี้เศรษฐกิจโลกจะโตที่ 3.9% จากคาดการณ์เดิม 3.7% และปีหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังจะโตดีขึ้นด้วย เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญใหญ่ๆ ของไทยก็ดีขึ้นเช่นกัน ทำให้ในปีหน้าเราจะได้เห็นภาพของการค้าโลกโตแซงภาพรวมเศรษฐกิจโลก หลังจาก 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจโตนำการค้า ทำให้สะท้อนถึงความมั่นใจว่า ภาพรวมการส่งออกยังขยายตัวอย่างมั่นคง" นายพรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ