(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ เผย GDP ปี 60 ขยายตัว 3.9% คงคาดการณ์ปี 61 โต 3.6-4.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2018 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เผยเศรษฐกิจไทยปี 60 ขยายตัว 3.9% จากปี 59 ที่ขยายตัว 3.3% โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 9.7% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 3.2% และ 0.9% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยที่ 0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 10.8% ของ GDP

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 61 คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% ทั้งนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัว 6.8% การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมจะขยายตัว 3.2% และ 5.5% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 7.8% ของ GDP โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐที่จะเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ, การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน, แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ และ การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 60 ที่ขยายตัวได้ 3.9% นั้นเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากในปี 59 ที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.3% โดยในปี 60 ได้ภาคการส่งออกเป็นตัวสนับสนุนสำคัญ เนื่องจากการส่งออกของไทยในปี 60 ขยายตัวสูงถึง 9.7% ถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี

ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น การผลิตภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แม้การลงทุนภาครัฐในปี 60 จะหดตัว 1.2% จากผลของการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในไตรมาสแรกปีงบ 61 (ต.ค.-ธ.ค.60) ที่อาจมีความล่าช้า เนื่องจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่ทำให้ต้องมีการปรับตัวและทำความเข้าใจกับขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณอาจสะดุดไปบ้าง แต่ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 61 ซึ่งถือเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 61 แล้วการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐจะกลับสู่ภาวะปกติ

"ลงทุนภาครัฐอาจจะมีการเบิกจ่ายที่สะดุดไปบ้างจากผลของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่เพิ่มขึ้นจากกฎหมายเดิม ทำให้ต้องมีการตีความและทำความเข้าใจกันใหม่ในช่วงแรกๆ ของการบังคับใช้ แต่พอเริ่มดำเนินการไปแล้วสักระยะ ก็น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ" นายปรเมธี กล่าว

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 61 นี้ สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.6-4.6% หรือค่ากลางที่ 4.1% เท่ากับที่เคยประเมินไว้ในเดือน พ.ย.60 โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากปีก่อน ตลอดจนโครงการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะเริ่มเห็นในปีนี้ รวมทั้งการที่ พ.ร.บ.อีอีซี ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ได้มีการปรับเปลี่ยนสมมติฐานที่สำคัญของปีนี้ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ โดยได้ปรับให้แข็งค่าขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์ จากผลของการคาดการณ์ในการเพิ่มขึ้นของการขาดดุลการคลัง และเงินเฟ้อของสหรัฐ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแสวงหาผลตอบแทนของนักลงทุนต่างชาติในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่ามากขึ้น

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า แม้เงินบาทจะอยู่ในระดับที่แข็งค่า แต่ถือว่าการส่งออกของไทยยังมีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ดี เพราะเห็นได้จากในปี 60 ที่การส่งออกขยายตัวได้เกือบ 10% ซึ่งยังได้รับอานิสงส์ที่ดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพียงแต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นอาจทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไทยที่จะได้รับลดลงไปบ้าง

ทั้งนี้ จากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมีเงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอาจจะลดลง ซึ่งมีส่วนช่วยลดแรงกดดันของค่าเงินลงได้ และหากมีการส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็จะเป็นอีกทางที่ช่วยลดแรงกดดันเรื่องค่าเงินได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามและระมัดระวังความผันผวนที่จะเกิดขึ้นกับค่าเงินบาทในแต่ละช่วง ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ทำให้ค่าเงินเป็นปัญหาและอุปสรรคมากเกินไปในการดำเนินธุรกิจ

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น นายปรเมธี มองว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคงต้องพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว ประกอบกับไม่มีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อเพราะยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย นอกจากนี้หากยังสามารถดูแลเรื่องการเก็งกำไรได้ ก็เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นายปรเมธี ระบุว่า ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 61 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรเพื่อชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดยดูแลการส่งออกให้ขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน, การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย และสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการและนโยบายการพัฒนาที่สำคัญหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง, การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน

(2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปี ควบคู่ ไปกับการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่า 72.0% และ 77.0% ตามลำดับ, การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่, การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ

(3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรและการติดตามและป้องกันผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา, มาตรการการเงินการคลัง โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการดูแลมาตรการสินเชื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และการให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงและการแข็งค่าของเงินบาท และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ