รมว.พาณิชย์ไทย-กัมพูชา ร่วมลงนามยุทธศาสตร์สร้างความเติบโตการค้าชายแดน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 22, 2018 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2561 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาว่า การประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดี และได้สานต่อความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าไทยกับกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเดินหน้าให้ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเติบโตไปพร้อมกันตามแนวนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยกระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะผู้แทนไทยจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุม JTC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 6 และจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจไทย-กัมพูชา ซึ่งมีบริษัทกัมพูชาจำนวน 200 บริษัท และบริษัทไทยจำนวนกว่า 30 บริษัท เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยสินค้าที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าที่เกี่ยวกับความงาม มียอดการสั่งซื้อทันที 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีมูลค่าการค้าการลงทุนร่วมกันกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 1 ปีข้างหน้า

นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยและกัมพูชาได้เน้นย้ำถึงการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 โดยมีแนวทางสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ 1.ส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและกัมพูชา กับนายปาน สรศักดิ์ รมว.พาณิชย์กัมพูชา เพื่อสร้างความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และขยายการค้าการลงทุนระหว่างกันโดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ซึ่งกำหนดให้จังหวัดชายแดนสระแก้ว-บันเตียเมียนเจย เป็นโครงการนำร่อง รวมทั้งให้จัดตั้งคณะกรรมการการค้าชายแดน ซึ่งจะมีอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศของไทย และอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชา เป็นประธานร่วม เพื่อขับเคลื่อนการเชื่อมโยงเศรษฐกิจเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและกัมพูชาให้เป็นรูปธรรม

2.ส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร โดยได้เห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-กัมพูชา ภายใน 3 เดือน เพื่อพิจารณาแนวทางเพิ่มการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างกัน 3.ด้านการเชื่อมโยง สนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายหารือทวิภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรในการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างกันเพิ่มเติมในจุดผ่านแดนที่มีศักยภาพต่อการค้าและการลงทุน 4.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน เช่น การจัดงานแสดงสินค้า การจับคู่ธุรกิจ การสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศผ่านโครงการ YEN-D

5.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยไทยได้เชิญชวนให้กัมพูชาส่งผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เช่น กิจกรรมภายใต้โครงการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) และโครงการภายใต้ CLMVT Forum เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับประธานสภาหอการค้ากัมพูชา และคณะนักธุรกิจกัมพูชา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งไทยได้ย้ำถึงความพร้อมในการร่วมมือกับภาคเอกชนกัมพูชา

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการลงนามใน MOU ระหว่างอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าของกัมพูชา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ การจัดกิจกรรมร่วมกัน การส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ การแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนการค้า การอบรมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางในเศรษฐกิจยุคใหม่ในการปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล และการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งผู้แทนภาคเอกชนของไทยกับกัมพูชาได้ลงนามใน MOU อีก 6 ฉบับ เกี่ยวกับความร่วมมือในธุรกิจแฟรนไชส์ 2 ฉบับ และความร่วมมือในธุรกิจการกระจายสินค้า 4 ฉบับ

ปัจจุบัน กัมพูชาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 8 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 21 ของไทยในโลก การค้าของไทยกับกัมพูชา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 4,992.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560 การค้ารวมไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 6,164.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้า 4,375.1 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญไปกัมพูชา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผักและผลไม้ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี สินแร่โลหะ ลวดและสายเคเบิล และเสื้อผ้าสำเร็จรูป สำหรับการค้าชายแดน ปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 3,982 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของการค้ารวมไทย-กัมพูชา โดยไทยได้ดุลการค้า 2,487 ล้านเหรียญสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ