(เพิ่มเติม) บอร์ด EEC เห็นชอบหลักการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมเสนอครม.อนุมัติต่อไป เล็งขยายพื้นที่เขต ศก.พิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 26, 2018 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน เห็นชอบในหลักการของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา) และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินนี้ เป็น 1 ใน 5 โครงการเร่งด่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลต่อความสำเร็จของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้พัฒนามาจากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง) ที่เป็นโครงการเดิม โดยได้ปรับปรุงหลักการให้เข้าเชื่อม 3 สนามบินอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชนในอนาคต

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบถึงกรณีร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... ได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบในหลักการให้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) ไปศึกษาการขยายพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เชื่อมโยงกับ 3 จังหวัดเดิม โดยให้นำเสนอเข้าที่ประชุมฯ ในภายหลังจากที่ พ.ร.บ. EEC มีผลบังคับใช้แล้ว

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เห็นชอบให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พร้อมทั้งให้ทำการศึกษาการขยายพื้นที่โครงการล่วงหน้า

"จะเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ และระยองเชื่อมโยงด้วยขนส่งระบบราง" นายคณิศกล่าว

พร้อมระบุว่า โครงการไฮสปีดเทรนนี้พัฒนามาจากโครงการไฮสปีดเทรนสายตะวันออก (ลาดกระบัง-ระยอง) มูลค่า 2 แสนล้านบาท อายุโครงการ 50 ปี ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 60 นาที ค่าโดยสารจากมักกะสัน-พัทยา ประมาณ 270 บาท, มักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท และใช้เส้นทางเดียวกับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ แต่จะมีส่วนหนึ่งที่จะต้องเวนคืนที่ดินในจังหวัดฉะเชิงเทรา

"โครงการนี้จะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุน PPP net cost ใครให้ผลประโยชน์ภาครัฐมากสุด ให้รัฐจ่ายเงินน้อยสุดเท่าที่จำเป็น โดยจะพิจารณาในเรื่องเทคนิคการก่อสร้างก่อน จึงจะพอจารณาเรื่องอื่นๆ" นายคณิศ กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจะขยายเส้นทางไปถึง จ.จันทบุรีใช้เวลาเดินทาง 100 นาที และไปถึง จ.ตราดใช้เวลาเดินทาง 120 นาที ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้การโดยสารไฮสปีดเทรนแทนการเดินทางโดยรถยนต์ เนื่องจากประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า

สำหรับการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจตลอดทั้งโครงการทุนประมาณ 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าในช่วง 50 ปีแรก 4 แสนล้านบาท และเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วอีก 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท โดย เอกชนที่เข้าร่วมลงทุนจะต้องรับภาระโครงการแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ที่ปัจจุบันขาดทุนสะสมประมาณ 1,785 ล้านบาท และเป็นหนี้จากการก่อสร้างกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดทุนเรื้อรังของแอร์พอร์ตเรลลิงค์ด้วย

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ทุกโครงการ มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมกันใน 2566 ส่วนโครงการไฮสปีดเทรนนั้น คาดว่าจะดำเนินการประมูลเสร็จราวไตรมาส 3-4 ของปีนี้

"หลังจากทำทีโออาร์เสร็จแล้วจะเชิญทูตทุกประเทศมารับฟังคำชี้แจงเพื่อไปบอกต่อนักลงทุนของตัวเอง เขารอฟังอยู่" นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายอุตตมะ สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการขยายพื้นที่โครงการ EEC นั้น เป็นการเตรียมการล่วงหน้า เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ EEC เข้ากับ 3 จังหวัดใกล้เคียง คือ สระแก้ว, ปราจีนบุรี, สมุทรปราการ และพื้นที่เชื่อมต่อชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากได้ผลศึกษาเสร็จแล้วก็จะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ