สร.กฟผ. แต่งดำยื่นหนังสือทวงถามความชัดเจนนโยบายพลังงานไฟฟ้าจากรมว.พลังงาน หลังยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 28, 2018 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) นำพนักงาน กฟผ. รวม 130 คน แต่งชุดดำเดินทางยื่นหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เพื่อขอความชัดเจนในนโยบายและทิศทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยมีนายธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงานเป็นตัวแทนในการรับมอบ

โดยได้ยื่นถาม 4 คำถาม ถึงบทบาทหน้าที่ของรมว.พลังงานว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด เพราะแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และอนุมัติให้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากคณะรัฐมนตรี การที่สั่งยกเลิกโดยอ้างถึงการทำบันทึกข้อตกลงกับเครือข่ายปกป้องฝั่งทะเล ท่านลุแก่อำนาจไม่เป็นไปตามหลักการและระเบียบปฏิบัติที่ควรเป็นหรือไม่

นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ให้การยอมรับเสมอภาคเท่าเทียมกับกลุ่มคัดค้านหรือไม่ เพราะการดำเนินงานให้ความรู้ความเข้าใจกลุ่มประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง กฟผ. ได้ดำเนินการตามที่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานสั่งการ จนเกิดความรู้ความเข้าใจและสนับสนุนโครงการฯ แต่สุดท้ายก็ล้มแบบไม่ใยดีกลายเป็นความไม่น่าเชื่อถือในนโยบายของเจ้ากระทรวงต่อไปใครจะเชื่อถือนโยบายจากท่าน

กรณีรมว.พลังงานให้ข่าวว่า 5 ปีจากนี้ภาคใต้ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยากทราบว่า มีข้อมูลอะไรหรือนโยบายรายวันในประเด็นความมั่นคงเชื้อเพลิงการผลิตและราคาที่ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟในภาพรวมอย่างไร และหากภาคใต้มีการใช้ขยายตัวและต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีซึ่งข้อมูลตามระบบจะมีปัญหาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจะทำอย่างไร

กระบวนการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเป็นเชื้อเพลิงเกือบ 70% เป็นความเสี่ยงที่ท่านก็ทราบปัญหาดี การกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าต้องมีความสมดุล และมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ ราคาค่าไฟไม่เป็นภาระต่อประชาชนส่วนใหญ่จะทำอย่างไร

"การเดินทางในวันนี้ เพื่อทวงถามความชัดเจนนโยบายของ รมว.พลังงาน ซึ่งตอนนี้ กฟผ. เกิดความสับสน เพราะการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ใช้ระยะเวลานับ 3-4 ปี แต่ รมว.พลังงาน ใช้เวลาเซ็นยกเลิกเพียง 3 ชั่วโมง หากเกิดปัญหาไฟฟ้าดับในภาคใต้ ใครจะรับผิดชอบ ดังนั้น จึงขอความชัดเจนในนโยบายจากท่านก่อน โดยไม่ใช่เป็นการสั่งการจากความรู้สึกหรือผ่านสื่อมวลชน ทั้งหมดที่เราทำวันนี้ก็หวังให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนคนไทยเพราะเรามีหน้าที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้า"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ