(เพิ่มเติม) สรท.คงคาดการณ์ส่งออกไทยปี 61 โตที่ 5.5% แม้ม.ค.ขยายตัว 17.6% จับตา FX ผันผวน-มาตรการกีดดันทางการค้าของสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 2, 2018 12:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์เป้าหมายการส่งออกของไทยในปี 61 อยู่ที่ 5.5% แม้ว่ายอดส่งออกในเดือน ม.ค.61 ขยายตัว 17.6% (ขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี 2 เดือน) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ขณะที่การนำเข้าในเดือนม.ค.61 ขยายตัว 24.3% (YoY) ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 119 ล้านดอลลาร์สรอ. การขาดดุลดังกล่าวมีสาเหตุจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในปริมาณมาก ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาท และเพื่อเป็นการควบคุมต้นทุนและส่งเสริมศักยภาพภาคการผลิตในระยะยาว

สำหรับปัจจัยบวกหนุนการส่งออกปีนี้โตได้ 5.5% ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาท 31.5 (± 0.5) บาท/ดอลลาร์ โดยมีปัจจัยบวกประกอบด้วย 1. การขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของโลกและประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และ CLMV เป็นต้น และ ประเทศคู่ค้าศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ รัสเซียและ CIS 2. การเพิ่มขึ้นของการน เข้าเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลิตภาพของการผลิตในระยะยาว ร่วมกับการเร่งนำเข้าสินค้าทุนเพื่อเป็นช่วยการลดต้นทุนในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง 3. ทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และราคาของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ปรับราคาสูงขึ้น และทำให้กลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการส่งออกที่ต้องเร่งแก้ไขและต้องติดตามใกล้ชิด ประกอบด้วย ค่าเงินดอลลาร์สรอ.ที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น, มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่มีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบาย America First ซึ่งปัจจุบันมีสินค้ากว่า 4 ประเภทของไทยที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ เหล้กและอลูมิเนียม ยางรัด และมีแนวโน้มจะเพิ่มรายการสินค้าขึ้นในอนาคต, ปัญหาด้านโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ อาทิ การขาดแคลนตู้สินค้า ความแออัดของท่าเรือกรุงเทพ การจรจาเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบไปด้วย 1) นโยบายหรือมาตรการภาครัฐที่ประกาศเพิ่มเติม ก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิตเพื่อส่งออก แทนที่จะเป็นการสนับสนุน อาทิ ภาษี เศษซากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และนโยบายประกันราคาสินค้าทุนพื้นฐานบางชนิดทำให้เป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการ เช่น การประกันราคาข้าวโพดที่เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น และ 2) การรวมตัวของกลุ่มเศรษฐกิจ อาทิ CPTPP เป็นต้น ที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม อาจทำให้สูญเสีย/เสียเปรียบทางอำนาจทางการค้าในระยะยาว และกลุ่มเศรษฐกิจ EAEU ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ที่ไทยต้องให้ความสำคัญ

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออก มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรติดตามมาตรการกีดกันทางการค้า หรือ NTB อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหารือผู้ประกอบการและกำหนดมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้คำปรึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสูงของสหรัฐฯ จากนโยบาย American first เป็นต้น 2) ภาครัฐต้องกำกับดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค ไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่ค้าและคู่แข่งสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบโครงสร้างต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ ในช่วงที่ค่าเงินมีความผันผวน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ SME รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเครื่องมือประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน 3) รัฐควรมีมาตรการในระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากมาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ เช่น การลดหย่อนภาษี การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักรมาปรับปรุง เป็นต้น 4) ควรให้ความสำคัญกับการเจรจาการค้าเสรี ระดับทวิภาคี เช่น EU-Thai FTA ระดับพหุภาคี เช่น RCEP รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของกรอบเจรจาใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น "ข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก" (ซีพีทีพีพี-CPTPP) เป็นต้น และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย Eurasian Economic Union : EAEU 5) รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า ตามที่ได้ลงนามความตกลง Trade Facilitation Agreement เพื่อช่วยลดขั้นตอน อุปสรรค และต้นทุนสำหรับการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยส่งเสริมการค้าในระบบ e-Commerce ที่มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท.กล่าวว่า กลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการส่งออกไปได้ดี ได้แก่ กลุ่ม CIS ที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลก ขณะที่กลุ่มแอฟริกาใต้ที่พึ่งพาการลงทุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ก็ขยายตัวตามอียู และประเทศญี่ปุ่นที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกในภาพรวมยังเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง

"ตรวจชีพจรแล้วการส่งออกสินค้าของไทยในทุกกลุ่ม ทุกประเทศดีทั้งหมด...เศรษฐกิจทั่วโลกยังเป็นโมเมนตั้มที่ทำให้การส่งออกขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง" นายชัยชาญ กล่าว

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่ระดับ 31.46 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมา 2.51% Year-to-Date หรือกว่า 11% Year-to-Year ขณะที่ค่าเงินของประเทศเพื่อนแข็งค่าน้อยกว่าเงินบาท ดังนั้นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไปอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ