(เพิ่มเติม) ม.หอการค้า เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ.อยู่ที่ 79.3 ปรับลงเป็นครั้งแรกรอบ 7 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2018 12:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.61 อยู่ที่ 79.3 จาก 80.0 ในเดือน ม.ค. 61 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 66.1 จาก 67.0 ในเดือน ม.ค.61

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 74.2 จาก 74.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 97.4 จาก 98.0

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 61 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยมีปัจจัยลบจากความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองที่กังวลการเลือกตั้งเลื่อนออกไปเป็น ก.พ.62, ราคาพืชผลทางการเกษตรบางรายการยังทรงตัวในระดับต่ำ, ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไตรมาส 4/60 ขยายตัว 4.0% ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3.9%, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ คาดการณ์ GDP ปี 61 ขยายตัว 3.6-4.6% หลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ย, การส่งออกของไทยในเดือน ม.ค. 61 สูงสุดในรอบ 62 เดือน, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และการเสนอขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.61

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรฯ กล่าวว่า ค่อนข้างแปลกใจกับการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค.60 เพราะหากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมในหลายด้านแล้ว ส่วนใหญต่างส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาลต่างๆ ที่มีผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ทั้งวาเลนไทน์ และตรุษจีน, การส่งออกที่ขยายตัวสูง, ราคาสินค้าเกษตรบางรายการเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ข่าวการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็ยังมีน้ำหนักค่อนข้างมากต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัว

แต่ปัจจัยเชิงลบที่เป็นปัจจัยที่คงค้างมานาน ไม่ว่ากระแสการปรับโครงสร้างเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ผู้ประกอบการเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรแทนแรงงานคน ทำให้ไม่พิจารณารับคนงานเพิ่ม รวมไปถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่หันมาใช้เทคโนโลยีทางการเงินแทนการจ้างบุคลากร และการปรับลดสาขาธนาคารที่ไม่จำเป็นลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือว่าสร้างความกังวลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในแง่ของรายได้และการจ้างงานในอนาคตค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไปเป็นเดือน ก.พ.62, การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เริ่มมีเพิ่มขึ้น ทำให้คนเริ่มไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองว่าจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีการเติบโตแบบกระจุกตัว, ภาวะเงินบาทแข็งค่าที่สร้างความกังวลต่อภาคธุรกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.พ.ลดลง

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เป็นจุดที่ต้องสังเกตว่าจะมีทิศทางอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้ หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็น่าจะส่งผลดีต่อการบริโภคสินค้าและบริการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาส 2 ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 61 ขยายตัวได้ในระดับ 4.2-4.6% ตามที่เคยประมาณการไว้

"เราคงต้องขอเวลาอีก 2-3 เดือนในการติดตามสถานการณ์ เพราะถ้าเดือนหน้าดัชนีความเชื่อมั่นยังลดลงอีก ก็น่าเป็นห่วง แต่ถ้าประชาชนมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพ นโยบายการลงทุนของภาครัฐตามโครงการไทยนิยม รวมทั้งการเดินหน้าลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ทั่วถึงขึ้น เราก็เชื่อว่าประชาชนจะกลับมามีความมั่นใจมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2 และช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป" นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้อย่างกระจายตัวมากขึ้น คืองบกลางปี 1 แสนล้านบาท ที่เป็นโครงการต่างๆ ผ่านโครงการไทยนิยม ตลอดจนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเฟส 2 ที่มีการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ผู้ถือบัตรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ในระยะสั้นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีการขยายตัวแบบกระจายตัวได้เร็วขึ้น ส่วนในระยะยาวคงต้องพึ่งพาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเชื่อว่าเมื่อรัฐบาลมีการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ดังกล่าว ตามด้วยการเริ่มจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ ก็จะเป็นอีกส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระยะยาวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ