(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออก ก.พ. ขยายตัว 10.3% นำเข้าโต 16% เกินดุลการค้า 807 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 21, 2018 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ก.พ. 61 โดยการส่งออก มีมูลค่า 20,365 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.25% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.พ.) การส่งออกมีมูลค่า 40,466 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.8% และ นำเข้ามีมูลค่า 39,778 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 20.1% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 688.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.พ.61 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 10.3% ประกอบกับการส่งออกในรายตลาดสามารถขยายตัวได้ดีและสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในทุกตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ เอเชียใต้ อาเซียน และ CLMV อีกทั้งยังสามารถกระจายไปสู่ตลาดศักยภาพและตลาดใหม่อื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง ในขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ส่วนสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าในเดือนก.พ.นี้ การส่งออกของไทยในรูปของเงินบาท ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการส่งออกเมื่อคำนวณจากดอลลาร์สหรัฐกลับมาในรูปของเงินบาทแล้วมีรายได้ลดลง แต่ยืนยันว่าในขณะนี้ภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออก และยังไม่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย เนื่องจากยังมีความต้องการสินค้าไทยจากตลาดโลกแม้ราคาจะปรับสูงขึ้นบ้างก็ตาม

"เรื่องเงินบาทแข็งค่า เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกไทยในรูปของเงินบาทให้ลดลงไปบ้าง แต่ยังไม่กระทบความสามารถในการแข่งขันมากนัก เพราะสินค้าไทยยังมี demand สูง แม้จะมีราคาแพงขึ้น ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

พร้อมยืนยันว่า สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นยังไม่กระทบกับภาพรวมการส่งออกไทย โดยยังเชื่อว่าปีนี้การส่งออกไทยจะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8% เนื่องจากการวางเป้าหมายการส่งออกของไทยจะคำนวณในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันยังไม่เห็นสัญญาณของผลกระทบจากปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทย ประกอบกับการค้าโลกยังสามารถเติบโตได้ดี เพียงแต่ต้องติดตามสถานการณ์การกีดกันทางการค้าอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมขอให้ผู้ส่งออกไทยมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนในระยะเวลาที่นานขึ้นกว่า 3 เดือน เพราะขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐว่าจะปรับขึ้นกี่ครั้งภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ส่งออกไทยใช้สกุลเงินอื่นๆ ในการทำการค้าขายแทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนลงด้วย ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์เองจะเร่งหาตลาดใหม่สำหรับการส่งออกสินค้าไทย เช่น ตลาดแอฟริกา ตลาดตะวันออกกลาง รวมทั้งหาสินค้าใหม่ๆ เพื่อเป็นสินค้าดาวรุ่งมาช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะยาวต่อไป

น.ส.พิมพ์ชนก ยังคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 61 จะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 3.9% ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์โลก และการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตามด้วย

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ