ส.ผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย จี้รัฐเร่งประกาศใช้ B10 ช่วยดูดซับปาล์มน้ำมันแก้ปัญหาล้นตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 19, 2018 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า ในฐานะสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความพร้อมขอผลักดันให้ภาครัฐเร่งประกาศนโยบายการใช้ B10 โดยเร็วที่สุด และปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลให้เหมาะสมตามสถานการณ์เพื่อเป็นการทางเลือกในการแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมของประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศคู่แข่ง ด้านการผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างประเทศอินโดนีเซียได้ประกาศใช้ B20 ตั้งแต่ปี 59 ในขณะที่ประเทศมาเลเซียมีความพยายามผลักดันการใช้ B10 และมีแนวโน้มว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าการเพิ่มสัดส่วนการผสมเป็น B10 ได้รับการยอมรับในระดับสากล

นายศาณินทร์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มมากกว่า 5 ล้านไร่ คิดเป็นผลผลิตในรูปน้ำมันปาล์มดิบ 2.63 ล้านตันในปี 60 และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความต้องการหลัก คือ การใช้ในอุตสาหกรรมบริโภคและการผลิตไบโอดีเซลภายในประเทศอยู่ที่ 1.17 ล้านตัน/ปี และ 0.97 ล้านตัน/ปีตามลำดับ ดังนั้นสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศจึงเพิ่มสูงขึ้นเกินระดับปรกติ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาทะลายปาล์มน้ำมันลดลง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในวงกว้าง

ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล และในกรณีน้ำมันปาล์มขาดแคลน ภาครัฐได้มีนโยบายปรับลดสัดส่วนการผสมเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วน 7% (B7) คิดเป็นความต้องการใช้เฉลี่ย 4.2 ล้านลิตร/วัน ขณะที่มีผู้ประกอบการ 13 รายที่มีความสามารถ ในการผลิตไบโอดีเซลรวมทั้งสิ้น 6.6 ล้านลิตร/วัน และจะเพิ่มสูงกว่า 8.0 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 61

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มที่สูงกว่าความต้องการอย่างต่อเนื่อง การแก้ปัญหาที่สามารถทำได้ในขณะนี้ คือ การส่งออกน้ำมันปาล์ม และด้วยกลไกของตลาดส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศลดลงต่ำกว่าราคาตลาดโลก ภาครัฐต้องแทรกแซงราคาโดยใช้เงินสนับสนุน ประกอบกับ การส่งออกต้องพึ่งพานโยบายและความต้องการใช้ของประเทศผู้ซื้อ นับเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ดังนั้นภาครัฐจึงต้องเร่งสนับสนุนความต้องการใช้ภายในประทศที่เพิ่มมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ