ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 20, 2018 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2561 โดยมีทั้งหมด 87 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ระบุให้รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารเงินคงคลัง และการก่อหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

ในขณะที่การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมายหรือดำเนินการใดๆ ของรัฐที่ผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่าต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ.นี้อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

กฎหมายฉบับนี้ ยังบัญญัติให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ" ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, รมว.คลัง เป็นรองประธานกรรมการ, ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นเลขานุการ และให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ

โดยอำนาจและหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ คือ 1.การกำหนดวินัยการเงินการคลังเพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้แล้วใน พ.ร.บ.นี้ หรือในกฎหมายอื่น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ โดยไม่กระทบต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ 2.จัดทำและทบทวนแผนการคลังระยะปานกลาง 3.เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการงบประมาณ การจัดเก็บรายได้ การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารทรัพย์สิน และปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลังของรัฐ

4.กำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณ สัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย 5.กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการคลัง 6.กำหนดอัตราการชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลัง และงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนการบริหารหนี้สาธารณะ โดยให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี

ทั้งนี้ แผนการคลังระยะปานกลางจะมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี และอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.เป้าหมายและนโยบายการคลัง 2.สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ 3.สถานะและประมาณการการคลัง ซึ่งรวมถึงประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย ดุลการคลัง และการจัดการกับดุลการคลังนั้น 4.สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล 5.ภาระผูกพันทางการเงินการคลังของรัฐบาล โดยเมื่อคณะกรรมการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางแล้วเสร็จ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ