(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผยส่งออกเดือน มี.ค. โต 7.06% นำเข้าโต 9.47% เกินดุลการค้า 1,268 ล้านเหรียญฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 23, 2018 11:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน มี.ค.61 มีมูลค่า 22,362.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.06% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 21,094.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.47% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,268.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.61 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 22,363 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน 5 CLMV และสหรัฐฯ มีการขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน ที่ 3.3% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของยางพารา และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป

ส่งผลให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-มี.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 62,829.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.29% และ นำเข้ามีมูลค่า 60,872.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16.16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,956.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูงได้แก่ อินเดีย เอเชียใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS สำหรับแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 2 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 15 ไตรมาส (69.8) และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกที่อยู่ในระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (68.4) โดยสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกปี 61 คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวได้ดีจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่น จีน และหลายภูมิภาคในเอเชีย ขยายตัวได้ดีจากการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ทิศทางราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่เหนือระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ตามอุปสงค์โลก และการขยายข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC (จากเดิมที่ทำข้อตกลงรายปีไปเป็นข้อตกลงระยะยาว) จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออก

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการกีดกันทางการค้า ที่นอกจากจะกระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดที่เป็นคู่ขัดแย้งแล้ว ยังอาจส่งผลในวงกว้างไปยังตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดรองรับการส่งออกสินค้าที่ถูกกีดกันในตลาดคู่ขัดแย้งอีกด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยง กระจายสินค้าไปยังตลาดใหม่ ทำประกันความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบเพื่อลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับกระทรวงพาณิชย์อย่างสม่ำเสมอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ