คลัง เผยฐานะการคลัง 6 เดือนแรกปีงบ 61 รัฐนำส่งรายได้ 1.08 ล้านลบ. เงินคงคลังสิ้นมี.ค. 2.6 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 30, 2018 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - มีนาคม 2561) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,081,120 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 1,598,194 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 285,408 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 262,555 ล้านบาท

"ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 อยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยเงินคงคลังของรัฐบาลอยู่ในระดับที่เพียงพอ สามารถรองรับการเบิกจ่ายที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2561" โฆษกกระทรวงการคลังระบุ

ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2561 รัฐบาลเกินดุลเงินสด 2,720 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 33,804 ล้านบาท และเป็นการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 36,524 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีจำนวน 262,555 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ฐานะการคลังเดือนมีนาคม 2561

1.1 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง จำนวน 186,380 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2,575 ล้านบาท (คิดเป็น 1.4%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว

1.2 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 220,184 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3,409 ล้านบาท (คิดเป็น 1.5%) โดยเป็นรายจ่ายปีปัจจุบัน 198,862 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 2.6% ประกอบด้วยรายจ่ายประจำ 159,736 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 4.4% และรายจ่ายลงทุน 39,126 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 23.5% และการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อน 21,322 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 9.6%

การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 18,584 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 18,171 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวง 8,808 ล้านบาท งบลงทุนของกรมชลประทาน 6,029 ล้านบาท งบลงทุนของกรมทางหลวงชนบท 5,080 ล้านบาท

1.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด จากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลข้างต้น ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมีนาคม 2561 ขาดดุลจำนวน 33,804 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 36,524 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากเงินฝากกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน 27,187 ล้านบาท และรายจ่ายเหลื่อมไปเดือนเมษายน 2561 สุทธิ 4,932 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) เกินดุล 2,720 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 70,508 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังกู้ชดเชยการขาดดุล) เกินดุล 73,228 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 262,555 ล้านบาท

ส่วนฐานะการคลังในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - มีนาคม 2561) มีรายละเอียดดังนี้

2.1 รายได้นำส่งคลัง รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,081,120 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 41,100 ล้านบาท (คิดเป็น 4.0%) ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz (ใบอนุญาต 4G)และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

2.2 รายจ่ายรัฐบาล การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,598,194 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,478 ล้านบาท (คิดเป็น 0.5%) ประกอบด้วยรายจ่ายปีปัจจุบัน 1,470,559 ล้านบาท คิดเป็น 50.7% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย (2,900,000 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.2% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 127,635 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16.5%

รายจ่ายปีปัจจุบัน 1,470,559 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 1,289,746 ล้านบาท (คิดเป็น 56.6% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง 2,280,176 ล้านบาท) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.2% และรายจ่ายลงทุน 180,813 ล้านบาท (คิดเป็น 29.2% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง จำนวน 619,824 ล้านบาท) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 5.3%

2.3 ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดขาดดุล 546,611 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 517,074 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 29,537 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากการถอนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น งวดที่ 10 – 12 จำนวน 30,220 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ขาดดุล 546,611 ล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินโดยการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 285,408 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 261,203 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 262,555 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ