ดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน เม.ย.วูบต่อเป็นเดือนที่ 3 จากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2018 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนเม.ย. 2561 ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 45.3 จากเดิมที่ระดับ 45.6 ในเดือนมี.ค. จากแรงกดดันทางด้านค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นต่อภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นตามระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ ที่ในเดือนเม.ย. เร่งตัวขึ้นตามราคาอาหารสดและราคาพลังงานในประเทศ

อย่างไรก็ดี มุมมองของครัวเรือนต่อประเด็นทางด้านรายได้และการมีงานทำกลับปรับตัวดีขึ้นแตะระดับ 50.0 ในเดือนเม.ย. 2561 เนื่องจากครัวเรือนบางส่วนได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่มาอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561) ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. ช่วยหนุนรายได้ครัวเรือนเกษตรให้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมบนการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็มีส่วนช่วยหนุนการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจ จากการสำรวจ พบว่า ต้นทุนการทำธุรกรรมทางการเงิน (Transaction cost) ที่ลดลง จูงใจให้ครัวเรือนบางส่วนทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 12.3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจซื้อหาสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปกับฝั่งครัวเรือนที่มีการค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การประกาศฟรีค่าธรรมเนียมบนการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์คึกคัก ดังจะเห็นได้จากค่าใช้จ่ายของครัวเรือนผู้ซื้อสินค้าและรายได้ของครัวเรือนผู้ขายสินค้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.3 ในเดือนมี.ค. มาอยู่ที่ระดับ 46.9 ในการสำรวจช่วงเดือนเม.ย. 2561 สะท้อนมุมมองที่ดีขึ้นของครัวเรือนต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในอนาคต โดยครัวเรือนมองว่า ภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (เดือนพ.ค.-ก.ค. 2561) น่าจะผ่อนเบาลงจากช่วงก่อนหน้า เนื่องจากผ่านพ้นช่วงที่มีการใช้จ่ายสำคัญของครึ่งปีแรกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่าย กินเลี้ยงสังสรรค์ ท่องเที่ยว ทำบุญ หรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการชำระค่าเล่าเรียนของบุตรหลานล่วงหน้าก่อนเปิดปีการศึกษาใหม่ในช่วงกลางเดือนพ.ค. 2561 ซึ่งครัวเรือนบางส่วนก็เริ่มทยอยซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้แก่บุตรหลานไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ