กกร.คาด GDP Q1/61 โตราว 4% ใกล้เคียง Q4/60 คงคาดการณ์ทั้งปี 4.0-4.5% วอนภาครัฐเร่งพิจารณาความตกลง CPTPP

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 7, 2018 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกปี 2561 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงหนุนหลักจากภาคต่างประเทศ ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวสูงซึ่งส่งผลบวกตามมาต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดี อย่างไรก็ดี แรงส่งด้านการใช้จ่ายภายในประเทศแผ่วลง จากกำลังซื้อฐานรากหรือรายได้เกษตรกรที่ยังหดตัว และการลงทุนที่ชะลอลง โดยรวมแล้ว กกร. ประเมินว่า ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวราว 4.0% เท่ากับการขยายตัวในช่วงไตรมาส 4 ปี 2560

ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องติดตามบทสรุปของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ซึ่งในเบื้องต้นมองว่าอาจจะมีผลกระทบที่จำกัดต่อการส่งออกของไทยในปี 2561 รวมทั้งประเด็นข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน และจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ที่อาจจะมีผลต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนให้ยังคงปรับตัวผันผวน

นอกจากนี้ กกร. จะติดตามความคืบหน้าของการลงทุนโดยเฉพาะในโครงการภาครัฐที่น่าจะทยอยปรับดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ ตลอดจนสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะมีผลต่อการประเมินภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป

ทั้งนี้ กกร. ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ไว้ที่ 4.0-4.5% และคาดว่าการส่งออกน่าจะขยายตัว 5.0-8.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มองว่า น่าจะอยู่ที่ 0.7-1.2%

ส่วนในเรื่องความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) นั้น กกร. เห็นว่าเป็นทิศทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของไทย จึงขอให้ภาครัฐเร่งรัดการพิจารณาท่าทีและข้อดีข้อเสียของประเทศไทย เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการเข้าร่วมการตกลงดังกล่าว

สำหรับประเด็นที่สภาวิชาชีพบัญชีจะมีการเสนอคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) ให้ประกาศใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS9 ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ทาง กกร. เห็นว่ามาตรฐานดังกล่าว มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยค่อนข้างสูง กกร. จึงได้มีหนังสือเสนอ กกบ. ขอเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2565 เพื่อให้ กกบ. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาผลกระทบอย่างละเอียดรอบด้าน ซึ่งการเลื่อนออกไปจะทำให้มีเวลาศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศที่ได้เริ่มใช้ไปแล้ว เพื่อที่จะได้กำหนดแนวทางในการนำมาตรฐานฯมาใช้งานให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยต่อไป นอกจากนี้ กกร. ขอให้ภาครัฐเชิญภาคธุรกิจที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบ เช่น ธุรกิจลิสซิ่ง เช่าซื้อ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ