ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. 16 พ.ค.ตรึงดอกเบี้ย มองสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินชัดเจนขึ้นใน H2/61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 10, 2018 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การประชุมคระกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่สามของปี 2561 ในวันที่ 16 พ.ค. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% เนื่องจากการบริโภคของเศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีไม่มาก

"คาดว่า กนง. จะมีมติ "คง" อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุม กนง.รอบที่สามของปีนี้ เพื่อสนับสนุนความต่อเนื่องของการขยายตัวเศรษฐกิจไทย โดยการใช้จ่ายในประเทศยังพื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แรงหนุนจากนโยบายการคลังที่จำกัด และแรงกดดันเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับต่ำบ่งชี้ถึงความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอยู่...ขณะที่ทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยน่าจะมีสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นในช่วงหลังของปี" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แม้จะเริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น แต่ยังคงเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 61 น่าจะขยายตัวที่ 4.0% YoY การเบิกจ่ายของภาครัฐที่ล่าช้าทำให้แรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทยยังไม่เต็มที่ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรที่ยังหดตัวในภาพรวมทำให้กำลังซื้อของภาคประชาชนฟื้นตัวอย่างจำกัด ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดของแรงส่งทางด้านการคลัง กอปรกับการใช้จ่ายในประเทศยังเป็นไปอย่างช้าๆ นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนจะยังมีความจำเป็นที่จะช่วยสนับสนุนให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ เอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย แม้ว่าพัฒนาการของเงินเฟ้อไทยจะเริ่มมีสัญญาณปรับเพิ่มขึ้น หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย.61 ขยับขึ้นอยู่ที่ 1.07% อันเป็นเดือนแรกในปีนี้ที่อัตราเงินเฟ้ออยู่เหนือระดับ 1.0% จากราคาพลังงานที่ปรับขึ้นจากความกังวลต่อการถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

เมื่อพิจารณาปัจจัยความต้องการและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกแล้ว ราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงที่เหลือของปี 61 น่าจะแกว่งตัวในช่วง 65-75 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ซึ่งจะมีส่วนในการส่งผ่านมายังตระกร้าเงินเฟ้อของไทย อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารสดยังมีทิศทางปรับลดลง จากปริมาณผลผลิตเกษตรที่ออกมามาก รวมถึง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงทรงตัวในระดับต่ำ จากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคที่ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่มากนักทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อขาขึ้นมีจำกัด โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 61 จะยังอยู่ที่ 1.1%

ปัจจัยเสี่ยงด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การเจรจาในการหาทางออกในประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะที่ข้อเรียกร้องของทางการสหรัฐฯ มีความซับซ้อนและขยายขอบเขตไปในมิติการลงทุน รวมถึง การบังคับใช้กฎหมายของทางการจีน ทำให้การบรรลุข้อตกลงต่างๆ อาจไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันใกล้ อันคงจะเปิดความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีสินค้านำเข้าของจีนภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 ในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจนำมาสู่การตอบโต้ทางการค้าจากจีนที่มีความเข้มข้นมากขึ้น อันอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการค้าไทยได้

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่เริ่มมีสัญญาณทยอยปรับขึ้นในทุกช่วงอายุ ทั้งนี้ ปัจจัยที่กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะมุมมองถึงโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจำนวน 4 ครั้งในปีนี้ อันเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นและแกว่งตัวที่ระดับประมาณ 3.0% เทียบกับระดับ 2.4% ในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา

โดยการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้มีเงินทุนบางส่วนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมทั้ง ประเทศไทยที่นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรและตราสารทุนอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย.61 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในส่วนของตลาดพันธบัตรไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลาง-ยาวของไทยปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.2-0.3% จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจะทยอยส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินของบริษัทที่ระดมทุนผ่านตลาดทุนในระยะข้างหน้า

ปัจจัยที่ต้องติดตาม คงจะขึ้นอยู่กับการส่งสัญญาณถึงมุมมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะยาวของเฟดว่าจะมีการปรับขึ้นจากระดับ 2.8-3.0% ในปัจจุบันหรือไม่ ทั้งนี้ หากเฟดมีการปรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวขึ้น อาจส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับขึ้นตาม อันอาจจะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนในตลาดการเงินรอบใหม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการและประชาชน อาจจะต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการเงินที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า

มองไปข้างหน้า กนง.อาจจะเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง กอปรกับ ความกังวลต่อความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้มุมมองสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำยังมีประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะเดียวกัน น่าจะช่วยพยุงกำลังซื้อครัวเรือน โดยเฉพาะจากประเด็นโครงสร้างในเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงได้ส่วนหนึ่ง รวมทั้ง ช่วยประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินคงมีการพิจารณาน้ำหนักของประเด็นต่างๆ อย่างถี่ถ้วนและน่าจะเห็นสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินที่ชัดเจนขึ้นในช่วงหลังของปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ