ขสมก.รับมอบรถเมล์ไฮบริด"ฮีโน่"ทดลองวิ่งบริการ 4 เดือน 7 เส้นทางเดินรถเริ่ม มิ.ย.-ก.ย.61

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 31, 2018 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำยี่ห้อฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) ในโครงการความร่วมมือระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ฮีโน่ มอเตอร์เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.เป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย.61 ใน 7 เส้นทางเดินรถ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานและสมรรถภาพของรถโดยสาร โดยเก็บค่าโดยสารตามอัตราปกติ

ทั้งนี้ บริษัท ฮีโน่ฯ จะโอนกรรมสิทธิ์รถโดยสารคันดังกล่าวให้กับ ขสมก.โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้ ขสมก.นำไปวิ่งให้บริการประชาชนในระยะยาวต่อไป และเป็นรถที่สามารถรองรับน้ำมันดีเซล B20 ได้อีกด้วย

ด้านนายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีรถโดยสารประจำทางวิ่งให้บริการประชาชนทั้งสิ้น 2,674 คัน ซึ่งรถโดยสารส่วนใหญ่ใช้ระบบเครื่องยนต์ดีเซล อายุใช้งาน 19-27 ปี สภาพเก่า ทำให้มีต้นทุนการเดินรถและค่ามลพิษทางไอเสีย (CO2) ค่อนข้างสูง

ขสมก.จึงร่วมมือกับ บริษัท ฮีโน่ฯและ JICA นำรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำยี่ห้อฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) จำนวน 1 คัน มาทดลองวิ่งให้บริการประชาชนในเส้นทางเดินรถของ ขสมก.เป็นระยะเวลา 4 เดือนใน 7 เส้นทางได้แก่

1. สาย A1 (ดอนเมือง - หมอชิต 2) วิ่งระหว่างวันที่ 16-30 มิ.ย.61

2. สาย 510 (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต - อนุสาวรีย์ชัยฯ) วิ่งระหว่างวันที่ 1-15 ก.ค.61

3. สาย 522 (รังสิต - อนุสาวรีย์ชัยฯ) วิ่งระหว่างวันที่ 16-31 ก.ค.61

4. สาย 145 (อู่เมกาบางนา - หมอชิต 2) วิ่งระหว่างวันที่ 1-15 ส.ค.61

5. สาย 511 (ปากน้ำ - สายใต้ใหม่) วิ่งระหว่างวันที่ 16-31 ส.ค.61

6. สาย 138 (พระประแดง - หมอชิต 2) วิ่งระหว่างวันที่ 1-15 ก.ย.61

7. สาย 140 (แสมดำ - อนุสาวรีย์ชัยฯ) วิ่งระหว่างวันที่ 16-30 ก.ย.61

สำหรับรถโดยสารปรับอากาศชานต่ำยี่ห้อฮีโน่ ระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) คันที่นำมาทดลองวิ่งนี้เป็นรถที่ผลิตและประกอบภายในประเทศไทย ขนาด 12 เมตร 35 ที่นั่ง เครื่องยนต์ขนาด 250 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลและมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 90 กิโลวัตต์ สามารถประจุไฟได้เองโดยไม่ต้องพึ่งสถานีประจุไฟฟ้า อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และปริมาณการปล่อยมลพิษจากไอเสีย (CO2) เมื่อเปรียบเทียบกับรถโดยสารระบบดีเซล พบว่ามีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง 3.5 กิโลเมตร/ลิตร ประหยัดกว่ารถโดยสารระบบดีเซล 2 เท่า มีปริมาณการปล่อยมลพิษจากไอเสีย (CO2) 76,926 กิโลกรัม/ปี ต่ำกว่ารถโดยสารระบบดีเซล 48.56 %

รมว.คมนาคม ยังกล่าวถึงแผนฟื้นฟู ขสมก.ว่า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ในแผนฟื้นฟูของ ขสมก.ได้เสนอจัดหารถ 3,623 คัน ซึ่ง คนร.มีความเห็นปรับลดลงเหลือ 3,000 คัน โดยล็อตแรกได้มีการจัดหารถโดยสารใช้ก๊าซ NGV จำนวน 489 คันไปแล้ว ส่วนที่เหลือ 2,511 คัน เป็นการปรับปรุงรถเก่า 323 คัน และจัดหารถใหม่เพื่อทดแทนรถเก่าอีก 2,188 คัน โดยในส่วนของการจัดหารถใหม่จะพิจารณาสัดส่วน ทั้งรถเครื่องยนต์ดีเซล, รถไฮบริด และรถไฟฟ้า (EV)

พร้อมกันนี้ คนร.ได้ให้แนวคิดการใช้พลังงานที่หลากหลาย ซึ่งการจัดหารถโดยสารของ ขสมก. ควรพิจารณาประเภทเชื้อเพลิงที่เหมาะสม รวมถึงการผลิต และประกอบในประเทศ โดยใช้วัสดุในประเทศให้มากที่สุด

นายอาคม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายต่อคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก.ที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ที่มีนายณัฐชาติ จารุจินดา เป็นประธานว่า ขสมก. จะต้องปรับบทบาทจากเดิมที่เป็นทั้งผู้กำกับดูแล (Regulator) และผู้ปฎิบัติ (Operator) มาเป็น Operator เพียงอย่างเดียวหลังการปฏิรูปรถเมล์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และยังต้องเป็นระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ดังนั้น ขสมก.จะต้องมีมาตรฐานการให้บริการ การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการให้บริการ ทั้งระบบ e-Ticket และรถรุ่นใหม่

ส่วนฐานะการเงินนั้น ต้องปรับปรุงด้วยการเพิ่มรายได้ เช่น การเดินรถในเส้นทางใหม่, การเชื่อมกับสนามบิน ซึ่งสามารถกำหนดค่าโดยสารอัตราพิเศษได้ โดยเป็นบริการที่ได้รับความนิยม และเน้นการลดรายจ่าย เพื่อให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 อย่างรอบคอบ ส่วนกรณีรถเมล์ NGV 489 คันนั้น เนื่องจากยังติดคำสั่งศาล จึงจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งและขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ