(เพิ่มเติม) สรท.แนะรัฐเร่งแก้ความแออัดท่าเรือแหลมฉบัง ขยายระบบรางเชื่อมเข้าท่า-สร้าง ICD เพิ่ม-ยกระดับประสิทธิภาพขนถ่ายสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 3, 2018 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของท่าเรือแหลมฉบังที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากทำให้ต้องใช้เวลาการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่สินค้าจะตกเรือสูงขึ้น อีกทั้งทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น ในปีนี้คาดว่าปริมาณตู้สินค้าขาเข้า-ขาออกทั่วประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นไปถึง 9.8 ล้านทีอียู จากสถิติในปีก่อนอยู่ที่ 7,784,498 ทีอียู ทำให้เกิดความกังวลถึงความพร้อมของท่าเรือแหลมฉบังทีปัจจุบันมีสภาพการจราจรแออัด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าท่าเทียบเรือ C1, C2 และ B5 และในบริเวณศูนย์เอ็กซเรย์ของศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะมีรถบรรทุกจอดรอเป็นระยะทางยาวมาก

สรท.จึงเสนอให้ผลักดันการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเชื่อมเข้าไปในท่าเรือ โดยกระทรวงคมนาคมควรจัดซื้อหัวรถจักรและแคร่รถไฟ เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวรถขนส่งให้เพียงพอต่อปริมาณสินค้าที่ต้องการขนส่ง และผลักดันการสร้างสถานีบรรจุตู้สินค้ากล่อง (ICD) แห่งใหม่ในแต่ละภูมิภาค เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางเชื่อมเข้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังให้มากขึ้น,

ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ต้องเร่งรัดการดำเนินโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator:SRTO) และต้องประสานกับผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเพื่อเตรียมความพร้อมและและวางแผนการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในบริเวณท่าเรือร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการดำเนินงานและความแออัดภายในท่าเรือ

นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังต้องหารือร่วมกับท่าเทียบเรือที่ได้รับสัมปทานให้ยกระดับประสิทธิภาพการขนถ่ายสินค้าในท่าเรือ เพื่อลดความแออัดและการรอคอยของรถบรรทุกบริเวณประตูทางเข้า อีกทั้งควรสนับสนุนให้มีการขนสินค้าทางเรือชายฝั่งมากขึ้น พร้อมกำหนดกระบวนการและเส้นทางเคลื่อนย้ายสินค้าจากท่า A0.5 โดยให้รถหัวลากไปยังท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ โดยไม่ก่อให้เกิดความแออัดภายในบริเวณท่าเรือ

ประธาน สรท. กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกไตรมาสแรกของปี 2561 ว่า มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ โดยยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่า ภาวะตลาดหุ้นผันผวน การขาดแคลนอุปทานในภาคสินค้าเกษตบางกลุ่ม และปัจจัยลบจากนโยบายการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการค้าในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในเดือนมี.ค.เงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.10-31.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ สรท.คาดว่าเงินบาทในปี 61 เฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ +/- 0.50 บาท ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นจากเดือนก.พ.เล็กน้อย แม้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบแรกแล้วก็ตาม โดยสาเหตุสำคัญของการแข็งค่าของเงินบาท คือ 1.การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศและภาคการส่งออกที่ปรับตัวสูง ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าไทยเป็นจำนวนมาก 2.เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นสกุลหลักในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 3.นักลงทุนต่างชาติยังเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น หลังเล็งเห็นถึงความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาท และมีมุมมองต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เช่น ความผันผวนเชิงนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลให้เงินทุนยังไม่ไหลกลับเข้าไปที่สหรัฐฯ และยังเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง, มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐนำยใต้กฎหมายการค้า มาตรา 232 ต่อประเทศที่ได้ดุลการค้า เช่น จีน, อียู ซึ่งเป็นชนวนให้เกิดการทำสงครามการค้า และส่งผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมกับผู้ค้าในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ เช่น การปรับขึ้นภาษีนำเข้าหลายรายการ, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.61, ปัญหาความแออัดในท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนโลจิสติกส์, ความผันผวนของตลาดทุนที่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการผลิตและเศรษฐกิจในภาพรวม

https://www.youtube.com/watch?v=4tq8Hvpj15g&t=45s


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ