ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 32.12/14 ระหว่างวันผันผวน จับตาผลประชุม ECB คาดกรอบพรุ่งนี้ 32.00-32.20

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 14, 2018 17:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.12/14 บาท/ดอลลาร์ จากช่วง เช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 32.13 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทค่อนข้างผันผวน โดยตั้งแต่เช้าถึงบ่ายเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยขึ้นไปทำ high ที่ ระดับ 32.18 แต่พอช่วงเย็นก็เริ่มกลับมาแข็งค่าไปอยู่ระดับเดียวกับตอนเปิดตลาด ทั้งนี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดไม่มีการเซอร์ไพรส์ จึงมีแรงเทขายดอลลาร์ออกมาเพื่อทำกำไร

อย่างไรก็ดี ต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการยกเลิก QE ตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่

"ถ้าออกมาแล้วยกเลิก QE ดอลลาร์สหรัฐก็คงจะอ่อนค่า แต่หากผลออกมาเซอร์ไพรส์ตลาดโดย ECB ยังคงมาตรการ QE ไว้ตามเดิม ก็จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาทพรุ่งนี้น่าจะอ่อนค่า" นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า พรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00 - 32.20 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • ช่วงเย็นนี้เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.96 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 110.27 เยน/ดอลลาร์
  • ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1826 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1797 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,709.86 จุด ลดลง 8.48 จุด (-0.49%) มูลค่าการซื้อขาย 59,742 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 9,654.34 ลบ.(SET+MAI)
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนว
โน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในปี 61 ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะกลับมาสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยและมีแนว
โน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยกว้างขึ้น แต่ด้วยระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การ
จัดการ (managed float regime) อัตราเงินเฟ้อไทยที่ยังต่ำ และสถานะการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยรอง
รับผลกระทบจากดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นได้ เพราะค่าเงินบาทสามารถปรับอ่อนค่าลงได้ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่เกินดุล
ไปมากและเงินทุนสำรองที่มีขนาดใหญ่สามารถรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้ายได้
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบ
ธุรกิจเงินตราต่างประเทศ โดยให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้กับลูกค้าเพื่อการลงทุนใน
หลักทรัพย์ที่มีบริษัทหลักทรัพย์นั้นเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการลงทุนได้ โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรม
แห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยต้นเดือนก.ค.นี้ จะมีการปรับตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจ (GDP)และการส่งออกปีนี้ ซึ่งมีแนว
โน้มที่ดีขึ้นตามภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ยังคงมุมมองเช่นเดิมว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง
ครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
จากระดับ 1.50% ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ตลาดในภาพรวมและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้น ส่วนปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับ ตลาดการเงินโลกในช่วงสั้น ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในค่ำวันนี้ และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใน วันที่ 15 มิถุนายน

  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า แนวโน้มของสงครามการค้าถือเป็นปัจจัยที่สร้างความเสี่ยง แต่ใน
ช่วงที่ผ่านมานั้น ปัจจัยดังกล่าวยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ และแม้บริษัทเอกชนบางแห่งได้แจ้งให้เฟดรับทราบว่า
กำลังชะลอการลงทุนและการจ้างงาน อันเนื่องมาจากนโยบายการค้าของคณะทำงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่อย่างไรก็ดี ยัง
ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจนถึงขณะนี้
  • นักลงทุนติดตามการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะทราบผลการประชุมในช่วงค่ำนี้ตามเวลาในไทย
โดยคาดว่า ECB จะส่งสัญญาณปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ส่วนการประชุมของธนาคารญี่ปุ่น
(BOJ) ในระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย.นี้ คาดว่าคณะกรรมการ BOJ จะคงนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เริ่มต้นการประชุมนโยบายที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันแล้วในวันนี้ โดยคาดกันว่า
ธนาคารจะยังคงนโยบายกระตุ้นการเงินเชิงรุก ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% โดยการตัดสินใจคงอัตรา
ดอกเบี้ยนโยบายนั้น อาจจะสวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปในการประชุมเมื่อวานนี้ อีกทั้งยังได้ส่งสัญญาณ
ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะยุติโครงการซื้อสินทรัพย์ด้วยเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ