SCB EIC คาด ECB เริ่มขึ้นดอกเบี้ยช่วง H2/62 หลังส่งสัญญาณยุติมาตรการ APP และลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 15, 2018 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตามที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน พร้อมทั้งส่งสัญญาณยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme: APP) ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ตามที่ตลาดคาดนั้น จะทำให้ค่าเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ อาจมีความผันผวนสูงในระยะสั้น แต่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ถึงแม้ ECB จะประกาศหยุดการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสิ้นปีนี้ แต่การประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2562 ประกอบกับ dot plot ของ Fed ที่มีการปรับเพิ่มจำนวนครั้งของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2561 เป็น 4 ครั้ง ทำให้นักลงทุนยังคงมีมุมมอง (price in) ต่อไปว่า การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าของ ECB จะยังคงผ่อนคลายต่อเนื่องกว่าการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed สะท้อนได้จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ (forward) ระหว่าง Fed และ ECB ที่กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไป อีไอซีประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของกลุ่มยูโรโซนจะสามารถขยายตัวได้ตามที่ ECB คาด ทำให้ ECB สามารถยุติการเข้าซื้อพันธบัตรและสื่อสารถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ชัดเจนขึ้น ขณะที่ Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลง เพราะเริ่มเข้าใกล้ดอกเบี้ยนโยบายระยะยาว (neutral rate) จึงทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ (forward) จะกลับมาแคบลง ค่าเงินยูโรจึงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากในระดับปัจจุบันที่ 1.16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร สู่ระดับ 1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโร ในช่วงสิ้นปี 2561

SCB EIC ยังจับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ นโยบายกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในระยะต่อไป โดยมองว่าแม้ ECB จะประเมินแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนว่าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงมากขึ้น แต่อีไอซีมองว่าปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ ECB อาจไม่สามารถเร่งออกมาตรการตึงตัวทางการเงินได้ตามที่คาด ประกอบด้วย (1) อัตราเงินเฟ้อที่อาจต่ำกว่าระดับที่ ECB คาด เนื่องจากความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันดิบโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ (2) นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรปเป็นจำนวนมาก (3) ความไม่แน่นอนทางการเมืองและแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังของอิตาลี ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี และ (4) การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ยังคงมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ สะท้อนจากถ้อยแถลงที่กล่าวว่า ECB จะยังคงดูข้อมูลทางเศรษฐกิจ (subject to incoming data) ประกอบการตัดสินใจในการหยุดการเข้าซื้อพันธบัตร และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

อนึ่ง ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.61 ECB ได้ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน พร้อมทั้งส่งสัญญาณยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme: APP) โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย

1. ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม 3 เดือน โดยจากเดิมที่มาตรการจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2561 เป็นสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2561 และ ECB คาดว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะเข้าใกล้ระดับเป้าหมายที่ 2% ในระยะกลางแล้ว

2. ลดขนาดวงเงินที่จะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยจะยังคงวงเงินปริมาณการอัดฉีดต่อเดือนที่ 3 หมื่นล้านยูโร จนถึงเดือนกันยายน 2561 และลดการอัดฉีดปริมาณเงินต่อเดือนลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2561 จนถึงเดือนธันวาคม 2561

พร้อมกันนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (interest rate on the main refinancing operations) ที่ระดับ 0.00% พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (the deposit facility) ที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (interest rates on the marginal lending facility) ที่ระดับ 0.25% อีกทั้งยังระบุว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูร้อนของปี 2562 (มิถุนายน-กันยายน) และจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ ECB เห็นว่าเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ