กลุ่มไทยเบฟฯ ทุ่ม 6.7 พันลบ.พัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่าเพื่อบำบัดของเสีย-ผลิตก๊าซชีวภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 22, 2018 12:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปราโมทย์ สมชัยยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรับบำบัดน้ำเสียให้กับโรงงานผลิตสุราของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ วางแผนใช้เงินลงทุนราว 6.7 พันล้านบาท พัฒนาโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า ในช่วงปี 59-63 ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยบำบัดของเสียเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังนำมาผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อเป็นพลังงานความร้อนแก่หม้อไอน้ำ (Boiler) ในกระบวนการผลิต และใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายด้วย

ปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟฯ มีโรงงานสุราในประเทศ 18 โรงงาน โดยมีโรงงานที่ดำเนินโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นของเสียที่ได้จากกระบวนการผลิตแล้ว 8 โรงงาน แบ่งเป็น การผลิตก๊าซชีวภาพ 5 โรงงาน ในพื้นจ.อุบลราชธานี ,บุรีรัมย์ ,ขอนแก่น ,สุราษฎร์ธานี และปราจีนบุรี ซึ่งจะนำก๊าซชีวภาพมาเป็นเป็นเชื้อเพลิงในหม้อไอน้ำทดแทนน้ำมันเตาในกระบวนการผลิต

สำหรับก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้เกินความต้องการจะนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งปัจจุบันจำหน่ายไฟฟ้า 2 โครงการ กำลังการผลิตแห่งละ 1 เมกะวัตต์ ซึ่งการลงทุนในระบบดังกล่าวใช้เงินลงทุนราว 260 ล้านบาท/แห่ง

ส่วน 3 โรงงานที่เหลือเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากระบบเผาน้ำเสีย ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของกลุ่มบริษัท โดยดำเนินการโครงการแรกในจ.กาญจนบุรี จำนวน 2 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 1 พันล้านบาท โดยกระบวนการจะได้ไอน้ำไปใช้ในโรงงาน และไอน้ำอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามโครงการนี้ กลุ่มบริษัทได้สัญญาขายไฟฟ้าให้กับกฟภ. 7.5 เมกะวัตต์ จะเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ต้นเดือน ก.ค.นี้

อีก 1 โครงการเป็นการผลิตไอน้ำจากระบบเผาน้ำเสียเท่านั้น โดยไม่ได้ผลิตไฟฟ้า ในจ.ปทุมธานี มูลค่าลงทุนราว 300 ล้านบาท

นายปรีชา กล่าวว่า สำหรับแผนการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า ให้ครบทั้ง 18 โรงงานนั้น อาจจะดำเนินการไม่ทันตามแผนงานในปี 63 โดยคาดว่าจะเลื่อนออกไปเป็นช่วงปี 68 แทน เนื่องจากการผลิตไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต โดยไม่ได้นำไอน้ำเหลือใช้มาผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายนั้นอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุนที่ค่อนข้างสูง

ขณะที่ปัจจุบันนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาครัฐยังมีความไม่ชัดเจน เบื้องต้นเห็นว่าการที่รัฐบาลจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในราคาไม่เกินประมาณ 2.40 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาขายส่งไฟฟ้านั้น ไม่มีเอกชนที่จะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากแนวโน้มต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิงชีวมวลที่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.20 บาท/หน่วย ยังไม่นับรวมต้นทุนดอกเบี้ยและแรงงานอีกจำนวนหนึ่งด้วย

อนึ่ง โครงการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากน้ำกากส่า" ของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สาขาจังหวัดบุรีรัมย์ได้รางวัล Thailand Energy Awards ด้านพลังงานทดแทน ปี 61 โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้แผนงานของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา 19 ปี ซึ่งปีนี้มีโครงการรับรางวัล Thailand Energy Awards 2018 รวม 69 รางวัล โดย 25 โครงการได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมประกวดในเวที ASEAN Energy Awards 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนต.ค. ที่ประเทศสิงคโปร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ