ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยภาพรวมสินเชื่อแบงก์พ.ค.61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาด H1/61 อาจสูงกว่า 5% สินเชื่อธุรกิจ-รายย่อยนำ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 25, 2018 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพ.ค.61 พบว่า ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน พ.ค.61 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.59 หมื่นล้านบาท เป็น 11.20 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.59% MoM ใกล้เคียงกับสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเดือน เม.ย.61 แต่ผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน ทำให้อัตราเพิ่มเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนยังไต่ระดับขึ้นเป็น 4.99%YoY และ 1.27%YTD โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ค่อนข้างกระจายตัวไปแทบทุกธนาคาร ตามการเพิ่มของสินเชื่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยได้แรงหนุนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

ส่วนภาพรวมเงินฝากเดือน พ.ค.61 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย 700 ล้านบาท หรือ 0.01% MoM เป็น 12.36 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อนยังรักษาระดับการเพิ่มขึ้นได้ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 6.32% และ 2.16% ตามลำดับ โดยการลดลงของเงินฝากในเดือนนี้ มาจากเงินฝากทุกประเภท (กระแสรายวัน ออมทรัพย์ และประจำ) ของธนาคารขนาดใหญ่ 2 แห่ง ทำให้แม้ธนาคารขนาดเล็กจะยังออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่ 7 ตัวในเดือนนี้ แต่ภาพรวมเงินฝากยังลดลง

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาของผลิตภัณฑ์เงินฝาก และภาพรวมเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์อาจจะยังเพิ่มขึ้นตามความสะดวกสำหรับใช้ในการทำธุรกรรมชำระเงินออนไลน์

สำหรับภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารตึงตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเงินฝากในระบบธนาคารที่ลดลงเล็กน้อย ชดเชยด้วยเงินกู้ยืม (Borrowing) ในจำนวนใกล้เคียงกัน ขณะที่สินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นเป็น 85.95% จากระดับ 85.51% ในเดือนก่อนหน้า และสอดคล้องกับอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมที่ชะลอลงมาที่ 22.30% จากระดับ 22.45% ในเดือนก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมสินเชื่อในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ดีกว่าที่คาด โดยเม็ดเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ มาจากความต้องการของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยที่กลับมาได้แรงหนุนจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (หลังจากโครงการรถคันแรกทยอยปลดล็อกการห้ามโอนเปลี่ยนมือเมื่อถือครองครบกำหนด 5 ปี) รวมทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนยูนิตสร้างเสร็จพร้อมโอน อย่างไรก็ดี ภาพรวมของสินเชื่อเอสเอ็มอียังค่อนข้างทรงตัว แม้จะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นในบางกลุ่มกิจการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดกลาง

ทั้งนี้ แรงส่งสินเชื่อในช่วง 5 เดือนแรกดังกล่าวข้างต้น แม้ส่วนหนึ่งจะเป็นปัจจัยด้านฐานเปรียบเทียบ แต่ก็เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดีกว่าที่คาด ซึ่งทำให้คาดว่าสินเชื่อในช่วงครึ่งแรกของปี อาจขยายตัวสูงกว่าระดับ 5.0% และสนับสนุนให้การเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2561 มีโอกาสขยับขึ้นสูงกว่าประมาณการเดิมที่ 4.8%

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงจากภาคต่างประเทศที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากมีเค้าความยุ่งยากจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่ผลของฐานเปรียบเทียบที่สูง อาจมีผลต่อตัวเลขอัตราการเติบโตของสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปี

สำหรับสถานการณ์เงินรับฝากของธนาคารในปีนี้ แม้จะเป็นช่วงรอยต่อของการเตรียมรับมือภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ด้วยการพัฒนาช่องทางบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการยกเลิกค่าบริการพื้นฐานสำหรับธุรกรรมการเงินรายย่อย ซึ่งสร้างกระแสความตื่นตัวในการใช้บริการโอน-เติม-จ่ายบิล ผ่านสื่อออนไลน์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ในระบบธนาคารพาณิชย์จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากได้ดีขึ้น และสามารถประคองรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ย และการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ให้มีส่วนช่วยชดเชยรายได้จากค่าธรรมเนียมบริการที่ปรับลดลงได้บางส่วน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ