(เพิ่มเติม1) ศูนย์วิจัยกสิกร ปรับเพิ่ม GDP ไทยปีนี้เป็นโต 4.5% จากเดิม 4% รับส่งออกขยายตัวดี ใช้จ่าย-ลงทุนดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 28, 2018 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 61 เป็น 4.5% จากก่อนหน้าที่เคยคาดไว้ที่ 4% เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี และการใช้จ่าย การลงทุนในประเทศขยายตัวมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกไทยในปีนี้ขึ้นเป็น 8.8% จากเดิม 4.5% โดยได้รับแรงหนุนจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนนั้น อาจเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าได้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแรงหนุนจากแนวโน้มของการใช้จ่ายในประเทศที่เป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจมากขึ้น คาดว่ามาจากการทื่ผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะออกมามาก ทำให้รายได้ของเกษตรกรกลับมาขยายตัวเป็นบวก และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากการทยอยเปิดประมูลโครงการภาครัฐและการเริ่มเบิกจ่ายงบกลางปี 61 จะเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการลงทุนขึ้น และส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นตาม ทำให้ผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้ดี

ด้านประเด็นสงครามการค้าที่จุดชนวนโดยสหรัฐฯ ที่มีการกีดกันทางการค้าเริ่มจากสินค้าของประเทศจีน ตามมาด้วยยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเห็นนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่ต่อเนื่องไปอีก 2-4 ปีข้างหน้า หลังการเลือกตั้งกลางเทอมในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งยังต้องติดตามเกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมืองจะสนับสนุนให้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อไปหรือจะผ่อนปรนลง โดยที่นโยบายดังกล่าวของสหรัฐฯนำมาสู่การตอบโต้ของคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยบั่นทอนการค้าโลกและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า

ขณะที่ผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยจากสงครามการค้านั้นในปี 61 ยังมีผลกระทบในวงจำกัด โดยที่ประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าของจีนและสหรัฐฯ ส่งผลลบต่อการส่งออกไทยในปีนี้มูลค่าราว 280-420 ล้านสหรัฐฯ ส่วนในปี 62 หากการกีดกันทางค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยังมีความรุนแรงมากขึ้น คาดว่าจะกระทบการส่งออกไทยในปี 62 มูลค่า 4-4.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัย เศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในช่วงการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ แต่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ไว้ที่ 1.5% โดยที่แรงกดดันต่อการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยนั้นมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯเริ่มสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังเป็น 2 ครั้ง จากเดิมที่จะขึ้นในครึ่งปีหลังเพียง 1 ครั้ง เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯขยายตัวได้ดีขึ้น และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

"การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นทางกนง.อาจจะไม่เร่งมากนัก แม้ว่าดอกเบี้ยของเฟดจะเริ่มแซงเราไปแล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันของไทยที่ 1.5% ทางการยังมองว่าเพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อยู่ และแรงกดดันเงินเฟ้อก็ยังไม่มาก ซึ่งคาดว่าหากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยไทยก็อาจจะขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ก็มีความเป็นไปได้"นางสาวกาญจนา กล่าว

ด้านค่าเงินบาทในปีนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยอยู่ระหว่างการทบทวน หลังจากที่ปัจจุบันค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง แต่ยังคงประมาณการค่าเงินบาทอยู่ที่ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่ธนาคารมองผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้นทำให้กระแสเงินไหลออกมากขึ้น โดยเฉพาะเงินที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่และสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งกระแสเงินทุนที่ไหลออกไปมาก มาจากความกังวลด้านสงครามการค้าของสหรัฐฯกับคู่ค้าประเทศอื่นๆ

สำหรับภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ได้ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเป็นขยายตัว 5% จากเดิมที่ 4.8% หลังจากที่การขยายตัวของสินเชื่อรายใหญ่ในครึ่งปีแรกมีการขยายตัวได้ดีมาก และในช่วงครึ่งปีหลังมองว่าปัจจัยผลักดันการขยายตัวของสินเชื่อจะมาจากสินเชื่อรายย่อย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อที่กลับมาดี และยอดขายรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง

https://www.youtube.com/watch?v=B7VR7ShTZeg&feature=youtu.be


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ