กนอ. -กฟภ.-ซีแอลพี อินโนเวชั่นฯ จับมือเดินเครื่อง"ไมโครกริด" นำร่องนิคมฯแหลมฉบัง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 29, 2018 18:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานไฟฟ้าของฮ่องกง ดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและโซลูชั่นด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Smart City and Microgrid Solutions) ในนิคมอุตสาหกรรมใหม่และนิคมอุตสาหกรรมเดิม โดยมีเป้าหมายในการจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งสอดรับกับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ นอกจากนี้ ยังจะช่วยรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นต้องมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการป้องกันปัญหาไฟตก ไฟดับ หรือการผลิต – จ่ายไฟฟ้าที่ไม่พียงพอในบางพื้นที่

"กนอ. ได้เลือกนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะและโซลูชั่นด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก"

นายสมพงษ์ ปรีเปรม รองผู้ว่า กฟภ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟภ. ได้พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะภายใต้ PEA Smart Grid Roadmap โดยสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจว่าระบบของ กฟภ. สามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกับการไฟฟ้าอื่นๆ ได้ ทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย

โดย กฟภ. มีแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ประกอบด้วย การติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ระบบสถานีไฟฟ้าอัตโนมัติ ระบบ IT Integration ระบบแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก (Microgrid) และแผนการจัดทำโครงการ Demand Response ของ กฟภ. ซึ่งจากแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ของ กฟภ. จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่าง กฟภ. กนอ. และบริษัท ซีแอลพี เพื่อจัดตั้งโครงการ Smart Industrial Estates และ Microgrid Solutions ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการพัฒนาและทดสอบรูปแบบของการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดหาพลังงานที่เชื่อถือได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีราคาที่แข่งขันได้ โดยจะศึกษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่างๆ

กฟภ. จะรับผิดชอบในการให้ข้อมูลด้านระบบไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม แนวทางเกี่ยวกับโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและแนวทางการออกแบบ การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในแต่ละพื้นที่ดำเนินการ สำหรับ กนอ. จะเป็นผู้จัดหาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของโครงการ และนโยบายเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรม 4.0 และบริษัท ซีแอลพี จะรับผิดชอบในการออกแบบโครงสร้างและโมเดลเชิงพาณิชย์ของโซลูชั่นส์ด้านนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ขณะที่นายดิเรก ปาร์คกิ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า การร่วมมือในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเทคโนโลยีการใช้พลังงานทดแทนแบบหมุนเวียน มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยระบบการทำงานที่สามารถรองรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ในระบบเดียวกันเพื่อป้องกันปัญหาการไม่เสถียรของสภาพอากาศ เช่นในวันที่ท้องฟ้าปิดไม่มีแสงอาทิตย์ ก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ หรือในวันที่ไม่มีลม ก็สามารถใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ได้

ทั้งนี้ บริษัทฯ จะได้นำร่องทดลองติดตั้งและทดสอบระบบไมโครกริด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อถือได้เสถียรของระบบไฟฟ้า โดยระบบไมโครกริดนั้นประกอบด้วยระบบผลิตไฟฟ้าภายในซึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาขัดข้องกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ระบบไมโครกริดจะสามารถปลดตัวเองออกมาเป็นอิสระ และยังคงการจ่ายไฟฟ้าให้กับโหลดที่มีความสำคัญภายในได้บางส่วน โดยอาศัยแหล่งผลิตไฟฟ้าภายในระบบไมโครกริด และระบบกักเก็บพลังงาน ผู้ใช้ไฟฟ้าในระบบไมโครกริด สามารถกำหนดคุณภาพไฟฟ้า ความมั่นคงและความเสถียรของระบบไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ