CIMBT แนะรอศก.ไทยฟื้นตัวทั่วถึงก่อนขึ้นดอกเบี้ย คาดอย่างช้าใน Q1/62 เพื่อให้ได้วัคซีนในสภาวะที่เหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2018 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ให้มุมมองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า จากรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. (ฉบับย่อ) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า กนง.กำลังพิจารณา "ขึ้นดอกเบี้ยเมื่อพร้อม" นั่นหมายถึง หากเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และแนวโน้มเงินเฟ้อสามารถอยู่ในกรอบเป้าหมายได้ชัดเจนขึ้น ความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในระดับปัจจุบันจะเริ่มลดลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสร้าง policy space ในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้น

"การขึ้นดอกเบี้ยของกนง. ที่เราคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าก็ภายในช่วงไตรมาสแรกของปี 62 ไม่น่าจะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวต่อเนื่องและมีการกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเอกชนจะปรับตัวได้ในที่สุด สิ่งสำคัญคือ เมื่อเรากำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่กำลังโตได้ดี อย่าลืมนึกถึงวิกฤติในวันข้างหน้าไว้ด้วย เพื่อให้เราไม่ชะล่าใจ ใช้จ่ายเกินตัว หรือก่อหนี้ที่โตเร็วเกินรายได้มากไป และหวังว่าทุกท่านจะได้รับวัคซีนป้องกันวิกฤติในสภาวะที่เหมาะสม เพราะหากต้องจำใจฉีดวัคซีนในภาวะที่ไม่อำนวย และฉีดครั้งละหลายๆ เข็ม ท่านอาจได้รับผลร้ายมากกว่าผลดี" นายอมรเทพกล่าว

ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาค ระบุว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น แม้ไม่ได้ขึ้นแรงหรือหลายคนไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเศรษฐกิจกำลังขยายตัวดี แต่โดยเฉลี่ยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเติบโตได้ดีกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งในภาวะที่เราเติบโตได้ดี เราก็ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวหรือวิกฤติเศรษฐกิจเอาไว้ด้วย เพราะวิกฤติคือสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ไม่มีรูปแบบตายตัว ต่อให้อุดรูรั่วหรือช่องโหว่ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตไว้แล้วก็ตาม แต่ความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้นได้เสมอ อย่างเช่นวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 หรือวิกฤติการเงินโลกปี 2551 ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ นอกเหนือจากการป้องกันวิกฤติ คือต้องรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งการเตรียมนโยบายการเงินให้มีประสิทธิภาพ พร้อมรับมือกับวิกฤติให้ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

นายอมรเทพ ชี้ว่า แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งจำเป็นในการเตรียมความพร้อม อีกทั้งช่วยปรามพฤติกรรมนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูงหรือประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป โดยเฉพาะหากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน แต่แน่นอนว่า เมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้น ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจและครัวเรือนก็ขยับขึ้นตาม ซึ่งไม่น่าจะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว กลุ่มธุรกิจและครัวเรือนมักมีรายได้เติบโตได้ดี ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเสมือนการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจ แม้วัคซีนจะมีส่วนของเชื้อโรคที่เข้าไปสู่ร่างกายซึ่งอาจมีผลข้างเคียงให้เจ็บไข้บ้าง แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นก่อนร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้ได้ในภายหลัง

"แล้วปัญหาอยู่ที่ไหน ทำไมยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยสักที นั่นเพราะเศรษฐกิจไทยเหมือนร่างกายที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ เหมือนหมอที่ไม่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ผู้ที่กำลังมีไข้ เพราะเกรงจะทำให้ไม่สบายหนักกว่าเก่า อย่าลืมว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยรอบนี้มีความเหลื่อมล้ำสูง คือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก คนรายได้น้อยระดับฐานราก โดยเฉพาะภาคเกษตรไม่ได้มีการเติบโตของรายได้ที่ดี ทั้งยังมีหนี้ครัวเรือนสูง หากภาระรายจ่ายด้านดอกเบี้ยขยับขึ้น เงินที่เหลือไว้ใช้จ่ายอื่นๆ ก็มีแนวโน้มลดลง แล้วกำลังซื้อคนส่วนใหญ่ของประเทศจะสดใสได้อย่างไรภายใต้สภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะดูดีก็ตาม" นายอมรเทพวิเคราะห์

พร้อมระบุว่า สิ่งสำคัญก่อนการขึ้นดอกเบี้ยคือ เศรษฐกิจไทยจะต้องเติบโตอย่างทั่วถึง ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยก็น่าจะอีก 6 เดือนก่อนที่ราคาสินค้าเกษตรจะขยับขึ้นและมีเสถียรภาพช่วยให้รายได้ภาคเกษตรดีขึ้น อีกทั้งรายได้นอกภาคเกษตรน่าจะเติบโตดีขึ้นหลังเอกชนเร่งลงทุน ขยายชั่วโมงการทำงาน ซึ่งเราน่าจะเห็นกำลังซื้อกระจายตัวไปต่างจังหวัดและทุกภาคส่วนมากกว่าในปัจจุบันที่กระจุกอยู่ในเขตเมืองและกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่สาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก และการท่องเที่ยวในเมืองหลัก

"มองว่าดอกเบี้ยกำลังจะเป็นขาขึ้นชัดเจน แม้ยังไม่ใช่ในปีนี้ แต่มีโอกาสสูงที่ดอกเบี้ยจะขยับขึ้นในต้นปีหน้า ซึ่งเราคงต้องพิจารณาการกระจายตัวของเศรษฐกิจให้ทั่วถึงควบคู่ไปกับการเติบโตในภาพรวมและอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพด้วย" นายอมรเทพกล่าว

นายอมรเทพ ยังคาดการณ์ถึงการลดดอกเบี้ยเมื่อเกิดวิกฤติว่า หากจะมองข้ามช็อต ไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งหน้าเมื่อเกิดวิกฤติว่าเราต้องมี policy space แค่ไหนถึงจะรับมือกับวิกฤติได้ ให้ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2563 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสขยายตัวต่ำกว่า 1% จากการตัดลดงบประมาณเพื่อรักษาสมดุลหลังประธานาธิบดีทรัมป์ลดภาษีครั้งใหญ่ในปีก่อน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสชะลอผ่านการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวช้าลง ตลาดเงินตลาดทุนอาจมีความผันผวน แม้ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจที่การขยายตัวติดลบ แต่ก็อาจแรงพอที่ กนง. ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อประคองเศรษฐกิจด้วยการเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ระบบตลาดการเงิน

เมื่อในอีก 2 ปีเราอาจต้องลดดอกเบี้ย ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้อยู่ที่ 1.50% ต่อให้ลดลงเหลือ 0 (ซึ่งคงแทบเป็นไปไม่ได้ในตลาดเกิดใหม่อย่างไทย) เราก็มีโอกาสลดดอกเบี้ยเพียง 1.50% เท่านั้นเอง ซึ่งอาจจะพอในการรับมือปัญหาเศรษฐกิจระดับกลางๆ เช่น ปัญหาฟองสบู่ดอทคอมในสหรัฐปี 2544 แต่จะไม่พอในการรับมือวิกฤติ หากเหตุการณ์ซ้ำรอยปี 2551 ที่รอบนั้น กนง.ลดดอกเบี้ยลงรวมทั้งหมด 2.50% จากระดับ 3.75% ในเดือนพ.ย.51 ถึงระดับ 1.25% ในเดือนเม.ย.52

"อยากให้ลองสังเกตว่า กนง. ไม่เคยลดดอกเบี้ยลงไปต่ำกว่าระดับ 1.25% เลย แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยหดตัวแรงกว่า 4.3% ในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2552 และถ้ากนง.ต้องการขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายเท่าเดิม คือต้องการลดดอกเบี้ยรวม 2.50% กนง. จะต้องขึ้นดอกเบี้ยให้ได้อีก 2.25% เพื่อว่าเวลาลดดอกเบี้ยแล้ว ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งนับว่ายากมากในการขึ้นดอกเบี้ยขนาดนั้นจากภาวะปัจจุบัน" นายอมรเทพกล่าว

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคงจะเป็นการลดระดับดอกเบี้ยขั้นต่ำ คืออนุญาตให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าระดับ 1.25% ได้ในช่วงวิกฤติ หรือหา floor ใหม่ แต่จะเป็นเท่าไรนั้นก็แล้วแต่ดุลยพินิจของกนง. ซึ่งอาจเป็น 0.50% ก็ได้ แม้ว่านโยบายการเงินในปัจจุบันในสภาวะ new normal จะมีธนาคารกลางในยุโรปหรือญี่ปุ่นใช้อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ 0% หรือติดลบ แต่คงจะยากสำหรับประเทศไทยและตลาดเกิดใหม่อื่น

"เรามองแค่ระดับต่ำสุดที่ 0.50% เพื่อช่องว่างในการลดดอกเบี้ยให้ได้ 2.50% ซึ่งทางกนง.จะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 3.00% ภายใน 2 ปี จากระดับปัจจุบันที่ 1.50% ไปอีก 1.50% หรือขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ถึง 6 ครั้ง ซึ่งน่าจะอยู่ในวิสัยที่ทำได้โดยไม่กระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนัก ที่สำคัญทาง กนง. อาจต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจนในการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดการเงิน" นายอมรเทพกล่าว

พร้อมมองว่า ดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้นก็ไม่น่ากระทบกับต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนมาก เพราะเป็นการขึ้นช้า ขึ้นน้อย และขึ้นชัดเจน

นายอมรเทพ กล่าวว่า คงพอจะเห็นภาพแล้วว่าการเริ่มสะสมดอกเบี้ยหรือเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายมีความสำคัญมากในการรับมือวิกฤติอย่างไร แต่หากวิกฤติเกิดขึ้นก่อนที่ทางกนง. จะสามารถสะสมอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ได้ในระดับที่เหมาะสมแล้ว เราคงต้องหาเครื่องมือทางการเงินอื่นนอกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาใช้รับมือกับปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ระบบการเงิน และกดต้นทุนทางการเงินให้ต่ำลงเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการใช้จ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ