"สมคิด" เร่งกระทรวงคมนาคมเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผน หนุนศก.ขยายตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 11, 2018 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามงานของกระทรวงคมนาคมว่า ในช่วง 7-8 เดือนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ขอให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดโครงการต่างๆ เป็นไปตามเป้าหมายไม่ให้ล่าช้า ที่ผ่านมา พบว่าภาพรวมการดำเนินโครงการภายใต้ความรับผิดชอบกระทรวงคมนาคมเป็นไปด้วยดี มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

"ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโตได้ เพราะโครงการคมนาคม ดังนั้นอะไรที่ทำได้ให้เร่ง ไม่อยากให้ช้า และหากสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายได้ ไทยจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้ ดังนั้น 7-8 เดือนไม่ให้นั่งเฉยๆ อะไรที่อยากให้เร่งรัดเสนอเข้ามาได้เพื่อให้คุ้มค่าที่สุด" นายสมคิดกล่าว

ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ยังล่าช้าเนื่องจากติดปัญหาเรื่องการเวนคืนนั้น จะต้องเร่งเคลียร์เพื่อประมูลโดยเร็ว ส่วนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) นั้น ให้เพิ่มโครงการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก "ไทยแลนด์ริเวียร่า" ตามแนวเส้นทางคู่ขนานถนนเพชรเกษม โดยให้ปรับใช้งบประมาณในการพัฒนาให้เริ่มตั้งแต่ปี 2562

สำหรับโครงการรถไฟโครงข่ายลงสู่ภาคใต้นั้น ให้เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในไม่ช้า โดยให้ศึกษาต่อขยายเส้นทางจากหัวหิน-สุราษฎร์ธานี ส่วนรถไฟทางคู่ จะให้เพิ่มโครงข่ายรองเพื่อไปยังระนอง เพื่อเข้าสู่ทะเลฝั่งอันดามันได้สะดวก โดยโครงข่ายรถไฟจะต้องเข้าสู่พื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเป็นศูนย์กลางของ CLMV ขณะที่โครงข่ายหลักรถไฟทางคู่เชื่อมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จะต้องเพิ่มเติมเส้นทางสายรองไปยังเมืองรองด้วย สำหรับรถไฟทางคู่ระยะ 2 จะต้องเร่งนำเสนอครม.และเริ่มประมูลภายในปลายปี้นี้

ด้านการขนส่งทางบก ซึ่งมีแผนพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายและทรัคเทอร์มินอลนั้น หากจุดใดเป็นโครงการใหญ่ สามารถพิจารณาให้เอกชนเข้ามาพัฒนาได้

ส่วนการขนส่งทางอากาศนั้น จะเร่งการพัฒนาสนามบิน ซึ่งสรุปให้ บมจ.ท่าอากาศไทย (AOT) หรือ ทอท. รับโอนสนามบินในความดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินอุดรธานี สนามบินสกลนคร สนามบินชุมพร และสนามบินตาก ไปบริหารให้เรียบร้อยภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีสนามบินภูมิภาคใดที่มีเอกชนอื่นสนใจเข้ามาบริหารจะเปิดโอกาสพิจารณาได้เพื่อให้สนามบินของไทยมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น

ด้านการขนส่งทางน้ำ ได้มอบหมายให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม ช่วยพิจารณาการเพิ่มเส้นทางเดินเรือในอ่าวไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เส้นทางสัตหีบ-หัวหิน, อ่าวไทยตอนบน-ภาคใต้, สุราษฎร์ธานี-สมุย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะทยอยเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติ ครม. ตั้งแต่เดือนส.ค.ไปจนถึงปลายปี ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องผ่านคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือบอร์ด สศช.เห็นชอบก่อน โดยรถไฟทางคู่ระยะ 2 และสายใหม่ รวม 9 โครงการ วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาทจะเสนอครม.ในปีนี้ทั้งหมด โดยเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 323 กม. วงเงิน 72,921 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอครม.ได้ในเดือนก.ค. ส่วนอีก 8 โครงการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างดำเนินการตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯเพิ่มเติม

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง "กรุงเทพ-หัวหิน" อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมเสนอคณะกรรมการ PPP ซึ่งนโยบายต้องการต่อขยายไปถึงสุราษฏร์ธานี ซึ่งร.ฟ.ท.จะศึกษาออกแบบส่วนต่อขยาย รวมถึงศึกษาโครงข่ายแนวรถไฟสายย่อยเพื่อเชื่อมกับโครงข่ายหลักกับเมืองท่องเที่ยว เช่น ชุมพร-ระนอง, สุราษฏร์ธานี-กระบี่ ,เชียงใหม่-เชียงราย เป็นต้น

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 23.6 กม. วงเงิน 101,112 ล้านบาท จะเปิดประมูลในเดือนต.ค. สายสีส้ม(ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงินลงทุน 109,342 ล้านบาท และการลงทุน PPP เดินรถตลอดสาย จะเสนอครม.ไม่เกินพ.ย. สำหรับสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 สาย วงเงินกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท คาดเสนอครม.ในต.ค.-พ.ย. ส่วนการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ และเส้นทางช่วงบางซื่อ-รังสิตเป็นไปตามแผน โดยจะมีการเร่งรัดการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และรถไฟฟ้า นอกจากนี้จะเร่งรัดโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ภูเก็ต ขออนุมัติและประมูลในปีนี้เช่นกัน

ทางด้านท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเปิดประมูลปลายปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการประมูลไอซีดีลาดกระบัง และ การบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์กลางขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการเพิ่มความถี่เดินรถไฟขนส่งสินค้าไปยังแหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนพื้นที่ EEC

ส่วนการพัฒนาสนามบินของ ทอท. นั้น เร่งรัดให้แก้ปัญหาสนามบินภูเก็ต ซึ่งเปิดอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ แต่ยังมีปัญหาด้านระบบแอร์ และขยายพื้นที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สนามบินดอนเมืองมีแผนพัฒนาปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังเก่า มีระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ช่วยแก้ปัญหาจราจรภายใน และบริหารจัดการพื้นที่ แก้ปัญหาความแออัดของสนามบินเชียงราย เนื่องจากมีร้านค้ามากเกินไปจนไม่มีพื้นที่ให้ผู้โดยสาร ทั้งนี้ กรณีที่ ทอท.จะรับโอนสนามบินภูมิภาคไปบริหารจะต้องให้ความสำคัญในการใช้พื้นที่ด้วย เกณฑ์การให้บริการ ราคาต้องเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ไม่ใข่มองเรื่องกำไรมากเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ