ประเทศไทยพร้อมไหม? กับการรับมือนักท่องเที่ยวแห่เยือนใกล้แตะ 50 ล้านคน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 13, 2018 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากที่มีการคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยแตะ 50 ล้านคน และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆไป คำถามคือเรามีความพร้อมในการรับมือกับจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลขนาดนั้นได้หรือไม่

ความพยายามของรัฐบาลในการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วย 8 แผน หนึ่งในนั้นคือแผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง สู่การท่องเที่ยวระดับโลกรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยมี พัทยา สัตหีบ และระยอง เป็นวงแหวนการท่องเที่ยวหลัก และขยายสู่ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และขยายสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้น

เมื่อกางรายละเอียดแผนงาน ประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงระบบขนส่งและสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ อำนวยความสะดวกในการเดินทางได้สะดวกรวดเร็วและปลอดภัย แผนงานการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และแผนงานการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ด้านแหล่งท่องเที่ยว การคมนาคมขนส่ง และความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชน นักท่องเที่ยวและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ จำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนเพิ่มขึ้นเป็น 46.72 ล้านคน ในปี 2564 มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 508,590 ล้านบาท และยังมีระบบโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดและระหว่าง 3 จังหวัด ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยว การท่องเที่ยวในพื้นที่ EEC มีคุณภาพและภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่และประเทศได้

ถือเป็นอภิมหาโปรเจ็คท์ของรัฐบาลประยุทธ์ ที่เดินหน้าแผนเดินรุกในการโปรโมทการท่องเที่ยว แต่ลองย้อนหันกลับมามองความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ การขนส่งทางอากาศ ทางบก ทางเรือ เรื่องของสนามบิน รถโดยสาร รถไฟ เรือ ที่พัก กฎระเบียบต่างๆ รวมไปถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน...ต้องถามว่าเราพร้อมจริงๆหรือ

ยังไม่นับโครงการไอคอนสยาม โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากความร่วมมือของ สยามพิวรรธน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (ในเครือเจริญโภคภัณฑ์) กำหนดเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2561 มูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 50,000 ล้านบาท โดยวางแผนที่จะเชื่อมโยงโครงการเข้ากับโรงแรม ศูนย์การค้า และแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเน้นภาพลักษณ์แม่น้ำเจ้าพระยาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

เมื่อโครงการนี้เปิดตัวนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศคงแห่ไปเที่ยวกันอย่างล้นหลาม คงทำกรุงเทพฯจะกลับมาศิวิไลซ์อีกครั้ง

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ซึ่งทำหน้าที่บริหารงานท่าอากาศยาน 6 แห่ง ที่สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และ แม่ฟ้าหลวงเชียงราย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการทำเรื่องเข้าบริหารท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยาน อีก 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานสกลนคร ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานตาก

ในส่วนของท่าอาศยานสุวรรณภูมิอยู่ในช่วงการลงทุนขยายการรองรับผู้โดยสารที่ใช้งบลงทุนราว1.3 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุนราว 6.7 หมื่นล้านบาท ที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับ 45 ล้านคน/ปี เปิดใช้บริการในปี 63

และในปี 64 จะเปิดใช้รันเวย์ 3 ซึ่งจะสามารถเพิ่มเที่ยวบินเป็น 92 เที่ยวบิน/ชม.จากปัจจุบันรองรับได้ 68 เที่ยวบิน/ชม.ที่ใช้วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท และ อาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 วงเงินลงทุน 4.1 หมื่นล้านบาทรองรับผู้โดยสารได้อีก 30 ล้านคน/ปีจะเปิดให้บริการในปี 65 ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน/ปี

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เราคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพราะวันหน้าประเทศไทยคงต้องต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาอีกมากมายมหาศาล ซึ่งการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่ง 10% ที่โตขึ้นของแต่ละปี

เรามองตั้งแต่เริ่มเดินทางเข้าประเทศมาเลย 1.ท่าอากาศยานที่จะรองรับ บุคลากรที่จะอำนวยความสะดวก เช่น ตม. สายการบินที่จะรองรับเพียงพอหรือไม่ ความล่าช้าของแผนการบิน การแก้ปัญหาความแออัด ระบบสายพานกระเป๋า การขนส่งจากพื้นที่หลักไปยังจุดอื่นๆ เช่น จากสนามบินไปจุดหมายปลายทางอื่นๆ เช่น โรงแรมที่พัก อาหารการกิน สาธารณูปโภค ปัญหาขยะที่จะตามมา สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างปัจจัยต่างๆ ต้องทำให้เป็นระบบ...เราทำได้ดีพอหรือยัง

"ถ้าเรายังโตได้ปีละ 10% แบบนี้ 50 ล้านคนมาแน่ๆใน 2 ปีข้างหน้า ต้องปรับปรุงเรื่องสำคัญๆ เช่น เรื่องของปัญหาการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้าที่ขัดข้องบ่อยๆ ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย ทำอย่างไรจะแก้ปัญหาได้ ขนาดวันนี้ตัวเลขแค่ 30 กว่าล้านคนเรายังมีปัญหาขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ตามเกาะแก่งต่างๆ ปัญหาขยะกระทบไปถึงสัตว์ทะเล ปัญหาน้ำเสีย มลภาวะ..สารพัดเรื่องที่เราต้องคำนึง"

นอกจากนี้ การพัฒนาคนในภาคบริการที่ปัจจุบันก็ยังมีไม่เพียงพอ แรงงานไม่พอ เพราะภาคบริการยังต้องการแรงงานคนมากกว่าแรงงานที่เป็นหุ่นยนต์หรือ AI ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในหลายๆอุตสาหกรรม แต่สำหรับภาคบริการหุ่นยนต์คงทำได้ไม่ดีเท่า เช่นการปูเตียง ทำความสะอาด งานที่ต้องใช้ความละเอียดซึ่งถ้าเราพัฒนาแรงงานที่เป็นคนไทยไม่ทันปริมาณแรงงานจากเพื่อนบ้านที่หลั่งไหลเข้ามาวันนึงธุรกิจบริการคงต้องใช้แรงงานจากเพื่อนบ้าน 100%

ประธานสภาอุตฯท่องเที่ยวกล่าวว่า ประเด็นที่เป็นห่วงมากที่สุด ในกรณีที่เราจะไปแตะที่ 50 ล้านคนขึ้นไป คือ 1. บริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ความแออัดต่างๆ รวมถึงเรื่องการเดินทางเพราะวันนี้ถ้าเรามองในกลุ่มอันดามัน เรื่องท่าเทียบเรือที่ได้มาตรฐานก็ยังมีไม่ถึง 10% เช่น การใช้ท่าเทียบเรือผิดประเภทการใช้งาน คือเอาท่าเทียบเรือประมงมาใช้เป็นท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ในระดับสากลแบบนี้มันใช้ไม่ได้

2.เรื่องของการกระจายนักท่องเที่ยวไม่ให้กระจุกอยู่เฉพาะที่เมืองใหญ่ๆ เพราะการกระจุกตัวทำให้เกิดปัญหาต่างๆ คือแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมเร็ว ปัญหาขยะ น้ำเสีย โดยต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพิ่มขีด พัฒนาขีดความสามารถของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความเปราะบาง เช่น เขตอุทยาน วนอุทยาน เพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการทั้งภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร นำเทคโนโลยีไอทีเข้ามาใช้บริหารจัดการข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว จองที่พัก จองการเดินทาง เพราะยุคนี้เป็นยุค 4.0 นักท่องเที่ยวนิยมค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยวผ่านออนไลน์

"ปัญหาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ยิ่งนักท่องเที่ยวมามากแหล่งท่องเที่ยวก็จะยิ่งเสื่อมโทรมเร็วขึ้นโดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆที่นักท่องเที่ยวชอบไปกันมาก ซึ่งก็ต้องมาเปรียบเทียบกันว่ารายได้ที่เข้ามาจากการท่องเที่ยวเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ใช้ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ฟื้นฟูทรัพยากร คุ้มค่ากันหรือไม่"

3.มาตรฐานเรื่องการดูแลความปลอดภัย เพราะเรามักได้ยินข่าวที่กระทบภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยๆ เช่น เรือล่ม นักท่องเที่ยวถูกทำร้าย ถูกเอารัดเอาเปรียบ

"เรื่องความปลอดภัยคือหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว ยิ่งเราส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองออกไปเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่หรืออุปกรณ์ในการดูแลนักท่องเที่ยว เช่นนักท่องเที่ยวไปปีนเขาแล้วมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเราต้องมีแผนรับมือ หรืออุบัติเหตุต่างๆ ที่มีนักท่องเที่ยวบาดเจ็บหรือเสียชีวิตการดูแล การเยียวยาเป็นเรื่องที่เราต้องจัดการให้ดี หรือข่าวเด็กติดถ้ำที่เผยแพร่ไปทั่วโลก แม้วันนี้จะยังไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่ข่าวที่ออกไปแน่นอนย่อมทำให้นักท่องเที่ยวเกิดมีความสนใจอยากมาแน่ๆ"

ภาคผู้ประกอบการแข่งขันกันเองมีสูงขึ้น เกิดสงครามราคา ถ้าเราไม่มีมาตรฐานเรื่องราคาในอนาคตผู้ประกอบการเองก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะการดัมพ์ราคาลงมาอาจทำให้คุณภาพลดลงตามไปด้วย เมื่อนักท่องเที่ยวรู้สึกว่าไม่ได้รับมาตรฐานการบริการที่น่าพึงพอใจก็จะไม่มาเที่ยวซ้ำแล้วผู้ประกอบการก็จะอยู่ไม่ได้

"เรื่องเรือสปีดโบ๊ทบางพื้นที่แข่งกันมาก บางพื้นที่ก็เรือหางยาว แท๊กซี่ คงต้องมีการเสนอภาครัฐให้เข้าไปควบคุมมาตรฐานราคากลาง...ในต่างประเทศมีมาตรฐานราคาค่าบริการเหล่านี้ มีแต่ประเทศไทยนี่แหละที่แข่งกันลดราคา ลดราคาไม่พอคุณยังแข่งกันรับผู้โดยสาร บางรายบางลำก็บรรทุกเกินอัตราพอเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นก็กระทบเรื่องความมั่นใจเรื่องความปลอดภัย"

ตัวเลข 50 ล้านคนเกิดขึ้นแน่ๆ และคงไม่หยุดอยู่แค่นั้น ขณะที่พื้นที่ประเทศไทยยังมีขนาดเท่าเดิม มี 77 จังหวัดเท่าเดิม คำถามคือทุกตารางนิ้วของประเทศไทยมีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้จริงหรือ? มาตรฐานของคนที่ให้ทำงานด้านบริการเราดีพอหรือยัง ยวดยานพาหนะต่างๆที่ใช้รับส่งบรรทุกผู้โดยสารได้มาตรฐานหรือไม่ ความใส่ใจของคนที่ให้บริการเช่นเรือท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวมากกว่าผลประโยชน์ ความเห็นแก่ได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ