กพท.ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐาน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 22, 2018 11:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตามที่ได้มีการแสดงความเห็นในสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่าการตรวจสอบสายการบินได้ดำเนินการเสมือนว่าเป็นการจับผิดนั้น กพท. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบความปลอดภัยดังนี้

1.มาตรฐานความปลอดภัยในด้านต่างๆ จะกำหนดขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่มีการแก้ไขปรับปรุงต่อเนื่องมาเป็นลำดับ และพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดย กพท. มีการออกกฎระเบียบข้อบังคับในทางเทคนิคที่มีผลใช้บังคับแก่สายการบิน สนามบิน ผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ รวมถึงบุคลากรด้านการบิน เช่น นักบิน พนักงานต้อนรับในห้องโดยสาร ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน เจ้าหน้าที่จัดจราจรทางอากาศ

2.เมื่อมีกฎระเบียบกำหนดมาตรฐานแล้ว สายการบินและผู้ประกอบการด้านการบินอื่นๆ มีหน้าที่ต้องจัดทำคู่มือปฏิบัติการ (Operation Manual) ให้เหมาะสมกับสภาพองค์กรของตน และเสนอคู่มือให้ กพท. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ กพท. จะเห็นชอบเมื่อปรากฎว่า คู่มือนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานตามกฎระเบียบและเหมาะสมกับสภาพขององค์กร ซึ่งเมื่อคู่มือได้รับความเห็นชอบแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ "ปฏิบัติการตามคู่มือที่ตนเขียนไว้"

3. กพท. จะทำการตรวจสอบการปฏิบัติการของผู้ประกอบการตามรอบระยะเวลาที่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และอาจมีการสุ่มตรวจเพิ่มเติมตามผลการประเมินความเสี่ยงหรือตามประวัติการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือคู่มือของผู้ประกอบการแต่ละราย การตรวจสอบดังกล่าวเพื่อยืนยันว่า "ผู้ประกอบการได้ปฏิบัติงานตามคู่มือที่ตนเขียนไว้เอง" ถ้าปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ได้ปฏิบัติตามคู่มือตามที่กล่าวไว้ กพท. จะแจ้งข้อบกพร่องตามสภาพความรุนแรงของการฝ่าฝืน ซึ่งพิจารณาจากผลกระทบต่อความปลอดภัย เมื่อผู้ประกอบการได้รับทราบข้อบกพร่องแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสนอว่า "จะแก้ไขข้อบกพร่องนั้นอย่างไร" ภายในระยะเวลาที่ กพท.กำหนด โดย กพท. จะพิจารณาว่าข้อเสนอนั้นจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องได้จริงหรือไม่ โดยจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดข้อบกพร่อง และวิธีการที่จะจัดการกับสาเหตุนั้นและผลที่เกิดขึ้นตามมา ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าข้อบกพร่องนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น เมื่อข้อเสนอแก้ไขข้อบกพร่องได้รับการยอมรับแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอนั้นให้แล้วเสร็จ และกพท.จะตรวจสอบผลสำเร็จนั้นอีกครั้งหนึ่ง

4. เท่าที่ผ่านมา สายการบินส่วนใหญ่ได้พัฒนามาตรฐานความปลอดภัย ทั้งในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการ ตลอดจนระบบปฏิบัติการการบินให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลแล้ว แต่มาตรฐานที่ กพท. เข้มงวดมากขึ้น คือมาตรฐานความปลอดภัยในห้องโดยสาร (Cabin Safety) เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้โดยสารทุกคน ปัจจุบันประชาชนทั่วไป มีความเข้าใจว่าพนักงานต้อนรับในอากาศยานมีหน้าที่เพียงการให้บริการแก่ผู้โดยสาร แต่ตามความจริงแล้ว บุคลลดังกล่าวมีบทบาทสำคัญมากในการอำนวยความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น พนักงานต้อนรับในอากาศยานต้องสามารถเคลื่อนย้ายผู้โดยสารทั้งหมดออกจากเครื่องบินให้ได้ภายใน 90 วินาที ซึ่งการที่จะดำเนินการดังกล่าวได้ พนักงานต้อนรับในอากาศยานจะต้องมีความรู้ ได้รับการฝึกอบรมและฝึกซ้อมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ

5. จากการตรวจสอบที่ผ่านมา กพท. พบว่ามีบางสายการบินยังดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และสายการบินนั้นได้เสนอแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่ง กพท. ได้เห็นชอบแนวทางนั้นด้วยแล้ว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสายการบินที่จะดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานของพนักงานของตน ให้เป็นไปตามแนวทางการแก้ไขข้อบกพร่องที่ตนเสนอไว้ เพื่อ กพท. ตรวจยืนยันผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

6. บุคลากรด้านการบินทุกคน มีบทบาทสำคัญต่อมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของประเทศ กพท.จึงพยายามทำให้พนักงานทุกคนของทุกสายการบินมีมาตรฐานความปลอดภัยระดับเดียวกัน และได้จัดเก็บข้อมูลสมรรถนะความปลอดภัยในด้านต่างๆ ของแต่ละสายการบินมาอย่างต่อเนื่อง โดย กพท.จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดลำดับผู้ประกอบการที่ดีสำหรับปี 2561 และเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ นอกเหนือจากข้อมูลด้านการตลาดจากสายการบิน ซึ่งในที่สุดจะมีผลต่อการสร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชนและเป็นการยกระดับมาตรฐานทั้งในด้านความปลอดภัยและระดับการให้บริการของสายการบินของไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ