(เพิ่มเติม) กูรู มองศก.ไทยยังได้แรงหนุนจากลงทุนภาครัฐ แต่ห่วงกำลังซื้อลดจากปัญหาแรงงาน-ที่ดิน-บาทแข็ง-ปัจจัยตปท.ฉุด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 21, 2017 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อ"อนาคตประเทศไทยในพลวัตรเศรษฐกิจโลก"ว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงภาพรวมของกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี

แต่อย่างไรก็ตามคงเป็นห่วงกำลังซื้อของประชนรายเล็ก หรือรากหญ้า หลังผู้ประกอบการรายย่อยที่มีผลกระทบเกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงาน ที่ทำให้หลาย ๆ กิจการประสบปัญหา และการจัดระเบียบที่ดินที่ทำให้รากหญ้าไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ในขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังไม่กลับมามากเท่าที่ควร "เราไม่ห่วงในภาพใหญ่เพราะเอกชนรายใหญ่ก็มีการเตรียมตัวสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐก็ยังคงมีต่อเนื่อง การท่องเที่ยวเองก็ยังเติบโตได้ดีมาโดยตลอด แต่เราห่วงรายเล็กมากกว่าซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน และเรื่องของที่ดินที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างมีระบบ และไม่ให้เกิดผลกระทบมากเกินไป เพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"นายณรงค์ชัย กล่าว

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา "เกาะติดเศรษฐกิจไทย(ครึ่งหลังปี 60)...สดใสหรือไร้แวว"ว่า คาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 60 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากแรงส่งของการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ รวมถึงการเร่งตัวของคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ด้านการบริโภคคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการผลิตในภาคเกษตรที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ฟื้นตัว

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการสนับสนุนการลงทุนตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และความคืบหน้าของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ ความไม่แน่นอนในกระบวนการเจรจา และ ความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร รวมถึงการเลือกตั้งในประเทศสำคัญของสหภาพยุโรป และ ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญ

"เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาสามารถประคองตัวได้ดีจากปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และ ภาคการบริโภคที่กลับมาขยายตัวตามผลผลิต และ ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตร อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคเอกชนยังมีทิศทางฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ส่วนการท่องเที่ยวสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยว"

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยครึ่งหลังปี 60 ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโตได้ราว 3.5% จากไตรมาส 1/60 เติบโตได้ 3.3% และเชื่อว่าในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 4 นี้ เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยมีปัจจัยบวกมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น, การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ, การบริโภคภาคเอกชน มีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี แม้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงในครึ่งปีแรก รวมถึงการลงทุนภาคเอกชน ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการส่งออกที่เติบโตและการลงทุนภาครัฐ

ขณะที่ปัจจัยลบที่น่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย คือ ทิศทางการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ, ปัญหาภูมิศาสตร์โลก, ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย และการบริหารจัดการ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว

สำหรับเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเห็นได้จากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้สหรัฐฯมีมุมมองที่ดีขึ้นในเรื่องของการปรับขึ้นดอกเบี้ย, ยุโรป เรื่องการ Brexit ของประเทศอังกฤษไม่น่าจะมีความกังวลแล้ว รวมถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆในยุโรปด้วย, ญี่ปุ่น เชื่อว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะมีการเติบโตได้ดีขึ้น และจีน แม้จะมีการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่จีนก็ยังมีการเติบโตในอัตราที่สูงราว 6%

ส่วนความผันผวนของค่าเงินบาท สำหรับผู้ประกอบการส่งออกน่าจะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่น่าจะได้รับผลดีในเรื่องของต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งเชื่อว่าค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าได้ไม่นาน จากดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้

"ต้นตอจากเงินบาทที่แข็งค่า ไม่ได้มาจากตัวเราเอง แต่มาจากดอลลาร์อ่อนค่า ทำให้เราอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่เชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์น่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ธปท.ดูแล คือ พยายามให้เงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค ซึ่งในแง่ของการแข่งขัน เชื่อว่าการส่งออกยังคงเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายได้"

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังนี้น่าจะเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก แต่อุปสรรคต่างๆก็ยังมีอยู่ ทั้งปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่า, ปัญหาแรงงานต่างด้าว ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยภาคนอกประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลี เป็นต้น

แนะภาคอุตสาหกรรมไทย ปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ โดยพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการเพิ่มการผลิต ลดอุปสรรคที่เกิดจากภาครัฐ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ และรับมือกับปัญหาและอุปสรรคในประเทศและต่างประเทศ เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ หรือนำเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานคน

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันในช่วง 6 เดือนหลังนี้ คาดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 53-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากครึ่งปีแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 44-46 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และทั้งปีคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 49-51 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันโลกมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศสหรัฐฯ และเอเชีย โดยเฉพาะจีน,อินเดีย ,การปฏิบัติตามข้อตกลงการลดผลิตน้ำมันในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกกลุ่มโอเปก ที่ทำได้เกือบ 100% แต่อย่างไรก็ตามต้องรอดูหลังจากนี้ว่าโอเปกจะสามารถรักษาข้อตกลงการลดการผลิตน้ำมันไปจนถึงเดือนมี.ค.61 ได้หรือไม่ และซาอุดิอาระเบีย จะลดการผลิตน้ำมันได้นานเท่าไหร่ และการสต็อกน้ำมันโลกจะลดลงได้เร็ว และมากน้อยแค่ไหน

ด้านทิศทางราคาน้ำมันในประเทศไทยในครึ่งปีหลังนี้ ความต้องการใช้พลังงานน่าจะเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ 3% โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่น่าจะมีความต้องการสูงขึ้น จากการผลิตก๊าซฯในประเทศที่ลดลง และราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ก๊าซ น่าจะยังอยู่ในระดับปัจจุบันไปจนถึงสิ้นปี โดยพลังงานทดแทนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

https://www.youtube.com/watch?v=fOjBcZasxdY


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ