เอกชน 31 รายเข้ารับฟังการชี้แจงรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ชูจุดเด่นเงื่อนไขได้สิทธิพัฒนาที่ดิน รฟท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 23, 2018 13:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดงานชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่าราว 2 แสนล้านบาท เพื่อให้ข้อมูลโครงการและเปิดเวทีให้ผู้ซื้อซองเอกสารได้ซักถามข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนและข้อมูลเกี่ยวโครงการ โดยมีเอกชนผู้ซื้อเอกสารทั้ง 31 รายมาร่วมงานครบทั้งหมด

นายวรวุฒิ คาดว่า ในเบื้องต้นน่าจะมีเอกชนเข้ามายื่นเอกสารข้อเสนอเข้าร่วมโครงการประมาณ 3-4 กลุ่ม ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสรุปผลการประมูลในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ปี 62 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาภายใน 30 วัน ให้เวลาก่อสร้าง 5 ปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปี 62 และสามารถเปิดให้บริการในกลางปี 67

ในช่วงต้นเอกชนสามารถสร้างรายได้จากการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ ซึ่ง รฟท.จะมอบสิทธิการเช่าพื้นที่สถานีมักกะสันราว 100 ไร่ และใน อ.ศรีราชา อีก 25 ไร่ ขณะเดียวกัน รฟท.ก็จะเวนคืนที่ดินใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในเส้นทางระหว่าง อ.เมือง และ อ.บางน้ำเปรี้ยวจำนวนกว่า 300 ไร่ ใช้งบค่าเวนคืนราว 3 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 62 เพื่อใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง คาดว่าจะดำเนินการได้ในปีหน้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืน

ภายหลังการประชุมในวันนี้ รฟท.จะนำผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสารทั้ง 31 รายลงพื้นที่เพื่อชมสถานที่ก่อสร้างโครงการฯ ในวันที่ 24 และ 26 ก.ค.61 โดยในวันแรกจะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เช่น การก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การจัดการพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จากนั้นจึงนำชมสถานีมักกะสัน ทั้งจุด Check in บริเวณชานชาลาของ City Line และ Express Line การเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่นๆ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน (Depot) จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อให้เห็นรูปแบบการเดินทางอย่างเป็นระบบ

ส่วนในวันที่สองจะเดินทางจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อดูสถานที่จริงตามแนวเส้นทางและจุดสำคัญต่างๆ ของโครงการฯ ทั้งบริเวณสถานีรถไฟลาดกระบัง สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรีและสถานีบ้านฉาง ตลอดจนแผนการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ EEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ รฟท. จะเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนตลอดจนตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้ถึงวันที่ 9 ต.ค.61 และกำหนดรับซองข้อเสนอในวันที่ 12 พ.ย.61 เวลา 09.00-15.00 น. ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจะถือเป็นมิติใหม่และการเริ่มต้นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีศักยภาพและร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในอนาคต

ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวสรุปว่า ในการประเมินผู้ที่ได้รับคัดเลือกจาก 4 ซองประมูล ซองแรกเป็นการประเมินคุณสมบัติ จะพิจารณาซองแรกที่ไม่ปิดผนึกก่อน จากนั้นจะประเมินซองที่ปิดผนึก ผลจะเป็นผ่านหรือไม่ผ่าน ซองที่ 2 ที่เป็นซองเทคนิคจะเป็นซองปิดผนึกมี 6 หมวด แต่ละหมวดต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 75% และรวมทั้งหมดต้องมีคะแนนรวมไม่น้อยกว่า 80% ส่วนซองที่ 3 ที่เป็นซองด้านการเงินเป็นซองปิดผนึก ผู้ได้รับคัดเลือกจะเป็นผู้ที่ขอเงินรัฐร่วมทุนต่ำที่สุด เพื่อเข้าสู่การลงนามในสัญญา

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐจะมีการเรียกเจรจาต่อรอง ซึ่งรัฐจะเปิดซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษของเอกชนหรือไม่เปิดก็ได้ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) กล่าวว่า บริษัทมีความสนใจโครงการดังกล่าวเพราะมีมูลค่าก่อสร้างสูง หรือครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการ เพราะธุรกิจหลักของบริษัทคือการขายวัสดุก่อสร้างครบทุกประเภท และเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนได้เร็ว เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งนี้ บริษัทกำลังเจรจากับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างไทยและบริษัทต่างชาติหลายรายทั้งจากจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส เพื่อร่วมมือกันเข้าดำเนินโครงการดังกล่าว คาดว่าจะได้ข้อสรุปได้หลังเดือน ส.ค. โดย TPIPL มีเป้าหมายจะเป็นผู้ถือใหญ่ในกลุ่มคอร์ซอเทียม ซึ่งในทีโออาร์กำหนดไห้บริษัทไทยลงทุนไม่น้อยกว่า 25%

"โครงการนี้มีเวลา 50 ปี ทำอย่างไรก็กำไร ประเทศไทยเจริญรุ่งเรือง คิดว่าโครงการนี้จะมีกำไรมหาศาล เพราะเรามั่นใจในประเทศมั่นใจเศรษฐกิจดี สรุปแล้วโครงการนี้หมูมากๆ"นายประชัย กล่าว

ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) กล่าวว่า ITD ต้องการเข้าร่วมกับรายอื่นโดยไม่จำเป็นต้องเป็น Leader ของกลุ่ม โดยได้มีการเจรจาพันธมิตรกับต่างชาติด้วย คาดว่าใน 1-2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปพันธมิตร เพราะต้องเตรียมเอกสารให้ทันการวันกำหนดยื่นเอกสาร 12 พ.ย.นี้ นอกจากนี้ ITD จะเดินหน้าเข้าร่วมประมูลงานรถไฟทางคู่ และรถไฟไทย-จีนที่คาดว่าจะมีงานออกมาช่วงไตรมาส 4/61

นายทาคาฟูมิ อูเอดะ ตัวแทนกรรมการ บริษัท ฟูจิดะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทญีปุ่นรายใหม่ที่สนใจเข้ามาร่วมงานประมูลภาครัฐของไทยเป็นครั้งแรก กล่าวว่า บริษัทเสนอตัวเข้าร่วมประมูลโครงการนี้เพียงลำพัง เพราะเห็นศักยภาพโครงการ และเป็นโครงการที่รัฐบาลโฟกัสพื้นที่ EEC แต่หลังจากนี้จะมองหาพันธมิตรไทยเพื่อร่วมมือกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 รายที่จะเข้ามาช่วยทางด้านงานก่อสร้าง เนื่องจากฟูจิดะมีความเชี่ยวชาญการพัฒนาเมือง

ทั้งนี้ ฟูจิดะฯ ในไทยก่อตั้งมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว และได้เข้ารับงานเอกชน 1 โครงการ มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งจะประกาศโครงการในเดือน ต.ค.นี้ ขณะที่บริษัทมีผลงานในญี่ปุ่นจำนวนมาก ได้แก่ สนามบินโอซาก้า รถไฟชินคันเซ็น โดยบริษัทเป็นบริษัทในกลุ่มไดวาเฮ้าส์ที่มีอายุนานถึง 100 ปี

ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างมองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทุกด้านส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศ ได้แก่ งานระบบราง งานเดินรถ งานรับเหมาก่อสร้าง แต่งานพัฒนาพื้นที่คงต้องพิจารณาอีกครั้ง โดยในส่วนเงินทุนไม่มีปัญหาสำหรับกลุ่มซีพีที่จะเป็นแกนหลักในการรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อยื่นประมูลโครงการนี้

สำหรับเอกชนจำนวน 31 ราย มีบริษัทจากไทย 16 แห่ง จากสาธารณรัฐประชาขนจีน 7 แห่ง ญี่ปุ่น 3 แห่ง มาเลเซีย 2 แห่ง ฝรั่งเศส 2 แห่ง และอิตาลี 1 แห่ง

ประกอบด้วย

1. บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)

2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด

3. บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

4. บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ)

5. บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (บริษัทย่อยของกลุ่มปตท.)

6. ITOCHU Corporation จากประเทศญี่ปุ่น

7. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

8. บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)

9. บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

10. บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น

11. China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

12. บมจ. ช.การช่าง (CK)

13. บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

14. บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL)

15. CHINA RAILWAY GROUP LIMITED จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

16. China Communications Construction Company Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

17. China Resources (Holdings) Company Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

18. CITIC Group Corporation จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

19. Korea-Thai High-speed Railroad Consortium Inc. เป็นบริษัทสัญชาติไทย

20. บริษัท เทอดดำริ จำกัด

21. Salini Impregio S.p.A. จากประเทศอิตาลี

22. บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด

23. TRANSDEV GROUP จากประเทศฝรั่งเศส

24. SNCF INTERNATIONAL จากประเทศฝรั่งเศส

25. Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development จากประเทศญี่ปุ่น

26. บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE)

27. บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา (CPN)

28. บจก. แอล เอ็ม ที สโตน

29. WANNASSER INTERNATIONAL GREEN HUB BERHAD จากประเทศมาเลเซีย

30. บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

31. MRCB Builders SDN. BHD. จากประเทศมาเลเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ