ก.เกษตรฯ นำร่องปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส.ค. นี้ 3,000 ไร่ในพท.เหนือ-กลาง-อีสาน หวังทดแทนนาปรัง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 29, 2018 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จะเริ่มใช้แผนการผลิตภาคการเกษตรของประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยขณะนี้กรมส่งเสริมสหกรณ์กำลังสำรวจความสมัครใจเข้าร่วมโครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังนาจากสหกรณ์การเกษตร 3 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา จากนั้นจะคัดเลือกดำเนินการใน 2 จังหวัด พื้นที่ 3,000 ไร่ เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการมาก แต่ผลผลิตในไทยมีไม่เพียงพอ อีกทั้งยังขายได้ราคาดีกว่าข้าวตามโครงการนำร่องจะต้องให้เกษตรกรได้กำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 30-40 ของต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า เกษตรกรปลูกข้าวโพดได้ผลผลิตเฉลี่ย 700-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่สหรัฐอเมริกาปลูกได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500-1,800 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องเข้าไปส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งบริหารจัดการน้ำให้เข้าถึงและพอเพียง เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่มากขึ้น จากนั้นกระทรวงจะจับคู่ค้ากับโรงงานผลิตอาหารสัตว์และผู้ส่งออกเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ทั้งหมด โดยโครงการนำร่องนี้จะใช้งบประมาณเหลือจ่ายของกระทรวงซึ่งจะใช้ให้น้อยที่สุด

นายกฤษฎา กล่าวว่า เมื่อโครงการนำร่องประสบผลสำเร็จจะขยายพื้นที่ปลูกภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีจะลดพื้นที่ทำนาปรังลง 2-3 ล้านไร่ เพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชตระกูลถั่ว โดยจะของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล เนื่องจากกระทรวงจะต้องจัดทำแผนการส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิต (Technical Package) เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิตและแผนการส่งเสริมเงินทุนการผลิต (Financial Package) โดยให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และจะช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้ภาคครัวเรือนสูง ไม่สามารถยื่นกู้ได้

จึงจะให้องค์กรเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ใช้น้ำรับสินเชื่อไปบริหารแทน ธ.ก.ส. เช่นเดียวกับแปลงใหญ่ สำหรับมาตรการสร้างแรงจูงใจเข้าร่วมโครงการนั้น ทางกระทรวงจะเจรจากับผู้รับซื้อทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่ามีตลาดรองรับแน่นอน โดยรับประกันกำไรร้อยละ 20-30 หากราคาสูงกว่าให้เป็นไปตามกลไกตลาด

นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า มันสำปะหลังเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีอนาคต ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังทดแทนการปลูกข้าวนาปรัง แต่จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่ที่ปลูกเดิม เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกข้าว มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวนาน 8-12 เดือน อีกทั้งส่งผลให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 8.29 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 27.24 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการ 40.75 ล้านตัน จึงยังต้องการผลผลิตเพิ่มอีก 13.51 ล้านตัน ซึ่งไทยยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อแปรรูปและส่งออก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ