(เพิ่มเติม) ธปท.เผยสินเชื่อแบงก์พาณิชย์ Q2/61 โต 5.4% สูงจาก 4.7% ใน Q1/61, คงคาดการณ์ทั้งปีขยายตัวราว 4-6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 14, 2018 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2/61 ว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 5.4% เมื่อเทียบระยะเวลาเดียวกันปีก่อน ขณะที่ ธปท.ยังคงคาดการณ์ว่าสินเชื่อทั้งปีจะขยายตัวราว 4-6%

โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในหลายประเภทธุรกิจโดยเฉพาะจากพอร์ตสินเชื่อ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวในทุกพอร์ตสินเชื่อโดยเฉพาะจากการเร่งตัวต่อเนื่องของสินเชื่อรถยนต์ ทั้งนี้ ภาพรวมการระดมทุนผ่านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์และตราสารหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.1% มาอยู่ที่ 5.6%

สินเชื่อธุรกิจ (66.7% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 4.1% เพิ่มขึ้นในหลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะจากสินเชื่อธุรกิจ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง แม้การขยายตัวของสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินขนาดเล็กปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวที่ 7.5% จากธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจอาคารชุดที่พักอาศัยและอาคารแฟลตเพื่อขาย และธุรกิจขายส่งสินค้าทั่วไป

สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) หดตัวที่ 1.8% เนื่องจากธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุนผ่านตราสารหนี้และหุ้น ประกอบกับธุรกิจบางส่วนมีการชำระคืนหนี้ อย่างไรก็ดี ธุรกิจขนาดใหญ่บางประเภทมีการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจที่พักแรม และการผลิตเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (33.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.0% เมื่อเทียบระยะเดียวกันปีก่อน โดยหลักจากสินเชื่อรถยนต์ที่เร่งตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 มาอยู่ที่ 12.4% สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เติบโตต่อเนื่องหลังสิ้นสุดระยะเวลาการถือครองรถยนต์คันแรก 5 ปี

ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.2% 6.5% และ 8.0% ตามลำดับ สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.93% ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ 2.92% โดยมียอดคงค้าง NPL ลดลงจากไตรมาสก่อน 1.65 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 441 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้สูญเป็นสำคัญ สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.36% จาก 2.32% ในไตรมาสก่อน โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 356 พันล้านบาท

"NPL ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเป็น 3.39% จากไตรมาสก่อนที่ 3.38% ส่วนหนึ่งเป็นปัญหามาจากเคยได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3 ปีแรก และเมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระ โดยจะเห็น NPL จากราคาบ้านประมาณ 3-5% ซึ่งเชื่อมโยงกับคุณภาพหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอีด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง แนวโน้ม NPL ก็จะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย"

นางสาวดารณี กล่าวว่า สำหรับทิศทางดอกเบี้ยขาขั้นนั้น จะกระทบต่อสัดส่วนหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ในอนาคตหรือไม่นั้น ธปท.เป็นห่วงกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีปัญหาเหลือรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย อีกทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยยังมีการก่อหนี้สูง ไม่ใช่เฉพาะแค่การสร้างหนี้ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่หนี้ประเภทอื่นเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยที่ต่างจากที่บ้านที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะมีเกณฑ์การดูแลลูกหนี้และการปล่อยหนี้ที่เหมาะสม

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์กันเงินสำรองเพื่อสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรอง 637 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 14.6 พันล้านบาท และสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 182.1%

ในไตรมาส 2/61 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ แม้รายได้ค่าธรรมเนียมจะได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.21% จาก 1.07% ในไตรมาสก่อน และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (NIM) เพิ่มขึ้นจาก 2.66% มาอยู่ที่ 2.71%

นอกจากนี้ ในไตรมาส 2 ธนาคารมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนจากค่าใช้จ่ายกันสำรองที่ลดลง และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมได้รับผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมโอน ซึ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมโอนเงินไตรมาส 2/61 ติดลบ 11.2% จากไตรมาสก่อนเติบโต 8.8% ส่งผลให้รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 8.2%

"กำไรระยะสั้นเหมือนจะดีขึ้น มองไปข้างหน้าแม้จะมีปัจจัยบวก เช่น รายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายกันสำรองลดลง แต่ปัจจัยด้านลบ เช่น ค่าใช้จ่ายลงทุนในดิจิทัล และค่าธรรมเนียมโอนเงินที่จะเริ่มทยอยลดลง ซึ่งในอนาคตรายได้จากค่าธรรมเนียมจะเข้าสู่ภาวะติดลบหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะธนาคารพาณิชย์ยังมีรายได้ส่วนอื่นมาชดเชยอยู่"นางสาวดารณี กล่าว

ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,477 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนซึ่งเป็นผลจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุน ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการขยายสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1 : CET1 ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 17.9% และ 15.3% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ