(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คงคาดการณ์ GDP ปี 61 โต 4.2-4.7% มองครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวจากฐานสูง-ท่องเที่ยวตก-ผลกระทบน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.2-4.7% หรือค่ากลางการประมาณการ 4.5% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.9% และ 3.3% ในปี 60 และปี 59 ตามลำดับ แต่มีการปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในครึ่งแรกของปี 61 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ

แรงสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตส คัญๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้น (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 4.1% และ 4.4% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของ GDP

สภาพัฒน์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ถึง 4.8% แต่การขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 61 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และสถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลผลิตภาคเกษตรในไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 61 ยังคงขยายตัวอยู่ในช่วง 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางของการประมาณการ 4.5% เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พ.ค.61

"สภาพัฒน์ยังประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% หรือเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 4.5% เท่ากับการประเมินในครั้งก่อน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และน่าจะเติบโตได้มากกว่าเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 4.1%"นายทศพร กล่าว

พร้อมกันนี้ สศช.ได้ปรับประมาณการส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% สูงกว่าการประมาณการเดิมที่คาดไว้ที่ 8.9% เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ดี แม้จะปรับประมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม

แต่ สศช.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 4.5% เนื่องจากประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 7.3% ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 8.6% เหตุเพราะการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ รายได้ภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 ยังชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวในเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต ประกอบกับมีช่วงฟุตบอลโลก 2018 จึงทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลง

เลขาธิการ สศช. กล่าว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 ได้แก่ 1. การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดี 2. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้น 3. การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4. การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การผลิตในภาคเกษตรที่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย, ฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 60, อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ, มาตรการกีดกันทางการค้าเริ่มทวีความรุนแรงและมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงของระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง

ทั้งนี้ ในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะจะส่งผลทั้งในแง่ของโอกาสและผลกระทบต่อการค้าของไทย ซึ่งในรอบแรกและรอบ 2 ได้ผ่านไปแล้ว ในขณะที่เชื่อว่าหากทั้งสหรัฐและจีนใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันจนถึงรอบ 3 ที่คาดว่าจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% คิดเป็นมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลลาร์นั้น ก็คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจจีนให้ลดลงไป 0.75% ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเองก็จะปรับลดลงไปด้วย 1.25% ซึ่งเมื่อรวมกันสองประเทศนี้ก็มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงได้ในอนาคต

อนึ่ง สศช.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ภายใต้สมมติฐานดังนี้ เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 4.1% ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 4.3% ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ในช่วง 65-75 ดอลลาร์/บาร์เรล รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2561 ที่ 91.8% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจาก 92% ในสมมติฐานประมาณการครั้งที่ผ่านมา

https://youtu.be/T0LqbIe1WVk


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ