หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ก.ค.61 อยู่ที่ 48.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 48.4 ในเดือน มิ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 20, 2018 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI ประจำเดือน ก.ค.61 อยู่ที่ระดับ 48.6 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย.61 ซึ่งดัชนีอยู่ที่ระดับ 48.4 และมุมมองต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคตช่วง 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 51.3 จากเดือน มิ.ย.61 ซึ่งดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.2

ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประธานหอการค้าจังหวัด และระดับผู้บริหารของหอการค้าแต่ละจังหวัดทั่วประเทศรวม 326 ตัวอย่าง พบว่า ปัจจัยที่มีผลในเชิงบวกต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าไทยในเดือน ก.ค.นี้ คือ นโยบายและมาตรการของภาครัฐ เช่น มาตรการด้านสินเชื่อ, การคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% ต่ออีก 1 ปี, การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องใช้ไฟฟ้า, การปรับลดค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ และการกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชน "หมูป่าอคาเดมี" ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ขณะที่ปัจจัยด้านลบ ได้แก่ เหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ตที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตจำนวนมาก, ระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น, ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และระดับราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น

จากการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค แยกได้ดังนี้ 1. กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าการบริโภคของประชาชน และสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนยังมีความไม่แน่ใจต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การจ้างงานที่ลดลง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังไม่กระจายไปยังทุกกลุ่มประชาชน 2. ภาคกลาง พบว่าได้ปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงวันหยุด ธุรกิจภาคบริการยังขยายตัว และภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมองว่าเศรษฐกิจในพื้นที่ยังไม่คึกคักมากนัก การบริโภคของประชาชนยังชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับไม่สูง และสินค้าเกษตรบางชนิดมีปริมาณล้นตลาด

3. ภาคกลาง กลุ่มตัวอย่างมองว่าได้ปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวของประชาชนในช่วงเทศกาล การใช้จ่ายภาครัฐจากโครงการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และภาคบริการในภูมิภาคยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยลบสำคัญ เช่น การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ, การเข้าไม่ถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs, ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง และประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มตัวอย่างมองว่าได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร, การท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ซึ่งส่งผลดีต่อเนื่องไปยังธุรกิจการค้าและการบริการ แต่ทั้งนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการค้าชายแดนที่ปรับตัวลดลง ภาวะการว่างงาน ต้นทุนของปัจจัยการผลิตทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ

5. ภาคเหนือ กลุ่มตัวอย่างมองว่าการบริโภคในช่วงเดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มีการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งผลต่อเนื่องให้มีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ยังมีปัญหาในเรื่องผลกระทบจากการค้าชายแดนที่ลดลง ต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น การท่องเที่ยวขยายตัวไม่สูง และประชาชนยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และ 6. ภาคใต้ กลุ่มตัวอย่างมองว่าภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเข้าใช้บริการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากนักท่องเที่ยวและประชาชนเพิ่มมากขึ้น และภาคการเกษตรปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ภูเก็ต ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการให้บริการนักท่องเที่ยว, ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา ยังอยู่ในระดับต่ำ

"จากผลสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปรับตัวดีขึ้น แม้จะยังไม่เข้าสู่ระดับปกติที่ 50 เพราะการบริโภคยังไม่โดดเด่นนัก แต่กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าสถานการณ์ในอนาคตหรือช่วงสิ้นปีจะปรับดีตัวขึ้น ซึ่งพระเอกที่ยังคงช่วยเราไว้ คือ การท่องเที่ยวและการส่งออก...การกระจายตัวของเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เริ่มเห็นสัญญาณที่คนมองว่าเศรษฐกิจดีขึ้น เพียงแต่การกระจายตัวในปัจจุบันยังไม่ได้อยู่ในระดับปกติ โดยเฉพาะภูมิภาคที่เศรษฐกิจผูกพันกับภาคการเกษตรเป็นหลัก" นายธนวรรธน์ กล่าว

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่าปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้คือ 1.ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตล้นตลาด และ 2.ผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต ดังนั้นทางหอการค้าไทยจึงขอเสนอแนะให้ผู้ประกอบการมีการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร, การพัฒนาเรื่องการบรรจุภัณฑ์ในสินค้าของกลุ่ม SMEs และให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ