กสทช.ยันเดินหน้าแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลต่อ หลังเปิดทางควบรวม,วงการคาดจับรวม 3 กลุ่ม ช่วยลดจำนวนช่อง-ค่าดำเนินการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 22, 2018 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณีที่ กสทช. มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตสามารถควบรวมกิจการได้ โดยประกาศได้ทำการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนแล้ว

ทั้งนี้หลังจากประกาศฉบับนี้ยังต้องมีการแก้ไขปัญหาทีวีดิจทัลอีกหลายประเด็น อาทิ ผลจากการควบรวมกิจการ การเตรียมการรับเทคโนโลยี 5G ของทีวีดิทัล เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาทีวีดิจทัลอย่างยั่งยืนจะทำการศึกษาแนวทางที่เหมาะสมและเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดต่อไป

แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิทัล คาดว่าหลังจาก กสทช.ออกประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้มีโอกาสได้เห็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลควบรวมกิจการกันอย่างน้อย 3 กลุ่ม และจำนวนข่องทีวีดิจิทัลจะหายไปประมาณ 5 ช่องจากทั้งหมดที่มีทั้งหมด 22 ช่อง

สำหรับกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากประกาศ กสทช.ฉบับล่าสุด คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่มีข่องทีวีดิจิทัลในมือจำนวน 2 ช่องชึ้นไป และกลุ่มบริษัทที่อยู่นอกตลาดหุ้นก็อาจมีพันธมิตรใหม่ เพื่อให้มีฐานะการเงินแข็งแกร่งขึ้นก่อนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม แนวทางควบรวมกิจการทำให้ผู้ประกอบการแข็งแรงขึ้น โดยอาจรวม 2 ช่องเหลือช่องเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง แต่ยังต้องชำระค่าใบอนุญาตในจำนวนเท่าเดิมจากที่ยังเหลือระยะเวลาชำระอีก 3 ปี ขณะที่ทำให้จำนวนช่องทีวีดิจิทัลลดลง ซึ่งก็จะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลลดลงด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า เท่าที่ประเมินน่าจะมีการควบรวมกิจการ 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่มี 2 ช่องคือ ช่อง TNN (16) และช่อง TRUE4U (24), กลุ่ม บมจ.เนชั่น มันติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ที่มี 3 ช่องในมือ คือช่อง Nation22 ,ช่อง NOW26 และช่องสปริงนิวส์ และ กลุ่ม บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ที่มี 2 ช่อง คือช่อง GMM(25) และ ช่อง ONE (31)

ขณะที่กลุ่ม บมจ.บีอีซีเวิลด์ (BEC) คงควบรมกิจการได้ยาก เพราะผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ทั้ง 3 ใบเป็นรายเดียวกันคือบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ