(เพิ่มเติม) รัฐเร่งระดมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสร้างความเชื่อมั่นนลท.ใน-ตปท. หนุนพัฒนา EEC เชื่อมต่อ SEC ขับเคลื่อนศก.ปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 29, 2018 15:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงาน Thailand Focus 2018 ในหัวข้อ EEC in Action (เดินหน้าไปกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเดินหน้าโครงการไทยแลนด์ 4.0 โดยที่ความคืบหน้าของการดำเนินการเริ่มลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐเดินหน้าการเปิดประมูลโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 62 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี รวมถึงการลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และการขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาและการสร้างโรงซ่อมบำรุงของการบินไทย ซึ่งโครงการต่างๆที่รัฐบาลได้เริ่มเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาซื้อซองสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างดี ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนการขอสิทธิพิเศษทางภาษีจากบีโอไอของนักลงทุนต่างชาติใน 6 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าทั้งปี 60 โดยที่ 70% เป็นสัดส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะอยู่ใน EEC

"การลงทุนใน EEC ที่ภาครัฐเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจังนั้น ทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศว่าการลงทุนของภาครัฐจะเห็นเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น เพราะการประมูลก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ คืบหน้าไปมาก และการวางแผนเชิงรุกของภาครัฐ จะทำให้ความเชื่อมั่นทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น"นายอุตตม กล่าว

ขณะเดียวกันภาครัฐเตรียมต่อยอดโครงการพัฒนา EEC ไปสู่การพัฒนาโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะมีการลงทุนพัฒนาโครงการคมนาคมต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงกัน เช่น การลงทุนขยายอาคารผู้โดยสาร และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ให้รองรับปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 คน/ปี และการเชื่อมต่อการคมนาคมทางรางโดยที่จะมีการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ในอนาคตอีกด้วย และจะมีการลงทุนก่อสร้างท่าเรือในจังหวัดระนองและรถไฟความเร็วสูงเพื่อเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางกรุงเทพฯ-ระนอง-เชนไน ทำให้ประหยัดระยะเวลาการขนส่งมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ถูกลง จากปัจจุบันที่การขนส่งในเส้นทางนี้จะเป็นการขนส่งจากกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สิงคโปร์-เชนไน

โดยที่งบประมาณในการลงทุนของโครงการพัฒนา SEC นั้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ นำไปศึกษารายละเอียด องค์ประกอบ และกลไกในการลงทุนของโครงการดังกล่าว เพื่อประเมินงบประมาณที่จะต้องใช้ลงทุน ซึ่งการลงทุนใน SEC ภาครัฐมองว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ของชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ Thailand in Connectivity with China’s Belt and Road Strategy (กลยุทธ์เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ "One Belt, One Road") ว่า ประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง จากการดำเนินโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมสู่ภูมิภาค เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาค ทั้งทางบก ทางเรือ ทางราง และทางอากาศ

"ในขณะนี้ทุกประเทศกำลังจับตามองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ของเราอย่างยิ่ง เพราะเขารู้ว่านี่คือพื้นที่ในการทำธุรกิจที่สำคัญที่สุดในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากพื้นที่นี้มีการขยายตัวดี มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ซึ่งเราคือตำแหน่งที่ใช่"

ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMEC) โดยได้ร่วมเจรจากับประเทศต่างๆ และได้มีการเสนอแผนการเชื่อมโยงของไทย ทั้งทางถนน ระบบราง ท่าเรือสำคัญๆ เครื่องบิน การเชื่อมโยงดิจิทัล และการเชื่อมโยงทางด้านพลังงาน เพื่อให้เป็นแผนหลักในการใช้ร่วมกัน อีกทั้งรัฐบาลยังมีการพิจารณาการจัดการด่านพรมแดน โดยการสร้างสะพาน, เพิ่มช่องผ่านแดน เพื่อให้เกิดสภาพไร้พรมแดน และเพื่อให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของโลจิสติกส์ในภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากภูมิภาคในการสนับสนุนให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจต่ำลง

นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงภูมิภาคแล้ว ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลยังได้เร่งดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศด้วย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญใน One Belt, One Road โดยรัฐบาลได้มีการอนุมัติก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าพร้อมกัน 5 สาย และรถไฟฟ้าใต้ดิน ขณะเดียวกันรถไฟทางคู่ รัฐบาลก็มีการอนุมัติแผนการเชื่อมโยงรถไฟเส้นทางใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการลงทุนใน EEC แล้ว รัฐบาลยังมองการขยายการลงทุนไปยัง 4 จังหวัดทางภาคใต้ได้แก่ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นประตูทางด้านตะวันตก และเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญของไทยในการส่งออก คาดว่าจะดำเนินการทำแผนลงทุนแล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ จากนั้นก็จะนำเข้าครม.ต่อไป ขณะที่การออกเป็นกฎหมาย ก็ยังต้องมีการพิจารณาดูก่อน คาดเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้เช่นกัน

"คาดว่าหลังจากโครงการพัฒนาต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลต่ออัตราการเติบโตของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากปีนี้คาดว่า GDP จะเติบโตในอัตรา 4.5-5%"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ