BAM รอปรับปรุงงานระบบบัญชี-ช่วงเวลาเหมาะสมก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เผยผลงาน 8 เดือนใกล้เคียงเป้าหมาย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 4, 2018 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ของ BAM ว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงิน คือ บล.ทรีนีตี้ ซึ่งได้มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาได้แน่ชัดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ช่วงใด แม้ว่าปัจจุบัน BAM จะมีความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว แต่ยังติดปัญหาในเรื่องของงบบัญชีที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานใหม่ที่ต้องมีการทำข้อมูลย้อนหลัง ทำให้มีผลกระทบกลับมาต่องานบัญชีในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ BAM ต้องมีการปรับเปลี่ยนข้อมูลในงบบัญชีและทำให้ขั้นตอนต่าง ๆ ในการเตรียมข้อมูลเกิดความล่าช้าขึ้น แต่แผนการเข้าตลาดหลักทรัพย์ยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าจะเกิดความล่าช้าบ้าง ประกอบกับช่วงเวลาในการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะต้องมีความเหมาะสมด้วย เพื่อได้ราคาที่สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน BAM ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบเร่งในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะยังมีสภาพคล่องมากที่รองรับการซื้อ NPL และ NPA ได้อยู่ในระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ยังไม่เกินระดับ 2 เท่า อีกทั้งยังมีเงินทุนที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไป 8 พันล้านบาท อายุ 3, 5 และ 7 ปี รองรับการซื้อ NPL และ NPA เข้ามา โดยที่แนวโน้มของการขายหนี้ NPL และ NPA ของสถาบันการเงินยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากหนี้เสียของสถาบันการเงินที่มีอยู่มาก และมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 แม้ว่าจะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่หลาย ๆ ธนาคารได้มีการปรับตัว เพื่อลดผลกระทบของหนี้ที่จะมีส่งผลกระทบต่องบการเงินตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ซึ่งเห็นได้จากธนาคารใหญ่ ๆ บางแห่งมีการขายหนี้ออกมาล็อตใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากปีนี้ที่ BAM สามารถประมูลซื้อสินทรัพย์มาแล้วได้เกินเป้าหมาย ขณะที่การแข่งขันในการประมูลยอมรับว่ามีการแข่งขันมากขึ้น จากการที่มีบริษัทเอกชนรายเล็กเข้ามาแข่งขันมากขึ้น แต่การประมูลของบริษัทจะพิจารณาจากราคาที่เหมาะสมเท่านั้น และไม่แข่งขันราคากับคู่แข่งมากเกินไป

ขณะที่ผลการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีผลการดำเนินงานที่ออกมาในระดับที่น่าพอใจ โดยมีรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้และจำหน่ายสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 1.01 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 92.52% ของเป้าหมาย 8 เดือนที่ตั้งไว้ 1.09 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.75 พันล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 61 จะทำรายได้และกำไรได้ตามเป้าหมายที่มีรายได้อยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามกำไรสุทธิในปีนี้จะลดลงจากระดับ 4.4 พันล้านบาทในปีก่อน เนื่องจากภาวะของธุรกิจนายหน้าขายทรัพย์มือสองมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการแข่งขันราคากัน และทรัพย์มือสองในตลาดมีซัพพลายที่ออกมามากขึ้น ทำให้กำไรของทรัพย์บางรายการที่ขายได้นั้นไม่มากนัก แต่บริษัทยังคงจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นของการขายทรัพย์แต่ละประเภทให้อยู่ในระดับที่เฉลี่ย 45-48.5% เพื่อทำให้ได้กำไรในระดับที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อกำไรสุทธิในภาพรวมมาก แต่ในแง่ของรายได้ยังคงเห็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง โดยที่บริษัทตั้งเป้ารายได้เฉลี่ยโต 5-10% ซึ่งเป้าหมายรายได้ของปีนี้ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 8% จากปีก่อน อีกทั้งในเร็ว ๆ นี้บริษัทจะมีการซื้อหนี้และขายทรัพย์ที่ซื้อมาได้ทันที ซึ่งเป็นทรัพย์ขนาดใหญ่อีก 2 รายการ มูลค่ารวมกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเร่งให้รายได้ของบริษัทเป็นไปคามเป้าหมายได้เร็วขึ้น และเป็นทรัพย์ที่ให้มาร์จิ้นดี

ส่วนการเพิ่มขนาดสินทรัพย์นั้นได้รับซื้อรับโอน NPL และ NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการจำนวน 8.38 พันล้านบาท ซึ่งเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8.31 พันล้านบาท โดยที่การรับซื้อ NPL ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการในปี 41 ถึงก.ค.61 มีจำนวน NPL รวมทั้งสิ้น 1.89 แสนล้านบาท คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 6.69 แสนล้านบาท โดยสามารถปรับโครงสร้างหนี้จนได้ข้อยุติเป็นจำนวนลูกหนี้ 101,620 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 226,710 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบัน BAM มี NPL ที่อยู่ในความดูแลจำนวน 87,458 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 4.42 แสนล้านบาท และมี NPA ที่อยู่ในความดูแล จำนวน 17,069 รายการ คิดเป็นมูลค่า 4.53 หมื่นล้านบาท

ด้านการดำเนินงานการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่านมา บริษัทมีลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ 2,338 ราย คิดเป็น 78% ของเป้าหมายที่วางไว้ทั้งปีที่ 3,000 ราย โดยที่ผ่านมา บริษัท ได้จัดแคมเปญพิเศษในโอกาสครบรอบ 20 ปี เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้กับบริษัท ได้แก่ โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ (SME) และโครงการ BAM ช่วยลดเพื่อปลดหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย และรายกลางที่ปรับโครงสร้างหนี้กับ BAM เป็นต้น

นายสมพร กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังว่า บริษัทยังคงเดินหน้าโครงการช่วยเหลือลูกค้า NPL อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสุขใจได้บ้านคืน โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ (SME) และโครงการอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อรองรับการตลาด Digital เต็มรูปแบบ เช่น การจองซื้อ-ขายทรัพย์ Online รวมถึงการนำเสนอทรัพย์รูปแบบใหม่ โดยใช้ Drone ถ่าย หรือ การใช้กล้อง 360 Virtual Tour ซึ่งเป็นการแสดงภาพเสมือนเข้าชมในสถานที่จริง เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ