ครม.เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. Digital ID เพื่อยกระดับการให้บริการหน่วยงานของรัฐ-ใช้กำกับดูแล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 11, 2018 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตลอดจนการกำหนดแนวทางการคุ้มครองประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลและผู้ใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

"ปัจจุบันการทำนิติกรรมสัญญาหลายประเภท จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนก่อนที่จะใช้บริการได้ ซึ่งที่ผ่านมา การพิสูจน์ตัวตนจะต้องให้ผู้ใช้บริการไปแสดงตัวตนต่อผู้ให้บริการ มีการยื่นเอกสารหลายอย่าง แต่วันนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้การทำนิติกรรมสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากสามารถพิสูจน์ตัวตนในแบบดิจิทัลได้ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดให้ต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยมี รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นการทั่วไป, ออกประกาศ คำสั่งเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้, กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการของบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับการจัดตั้งในรูปแบบบริษัท และได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี นอกจากนี้บริษัทผู้ให้บริการจะต้องกำหนดมาตรฐานในการรักษาความลับ และความปลอดภัยของข้อมูลในโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีมาตรฐานการเข้ารหัสหรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด ขณะเดียวกันได้กำหนดบทลงโทษแก่บริษัทผู้ให้บริการที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องให้แก่ผู้อื่น หรือไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้บริการหรือเจ้าของข้อมูล บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นด้วย

"ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ซึ่งที่ประชุม ครม.วันนี้ก็ได้เห็นชอบในหลักการ" พล.ท.สรรเสริญ ระบุ

ด้านนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. Digital ID) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ (1) พัฒนาโครงข่ายระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (โครงข่ายฯ) ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ (2) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล รวมทั้งกำกับดูแลผู้ให้บริการ และ (3) ยกระดับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ โดยหน่วยงานของรัฐสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายฯ ได้

ร่าง พ.ร.บ. Digital ID เป็นกฎหมายเชิงกำกับดูแล โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลโครงข่ายฯ เพื่อให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วน และผู้ใช้บริการซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ อำนาจการกำกับดูแลของคณะกรรมการสามารถแบ่งได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

1) ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Platform) ซึ่งให้บริการโดยบริษัทผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัท อีกทั้งการจัดตั้งบริษัทยังต้องได้รับความเห็นชอบ รวมถึงใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

2) ระบบทำการแทน (Proxy Server) ซึ่งเป็นการให้บริการระบบทำการแทนแก่ผู้ที่ประสงค์จะเข้าสู่ Platform ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ไม่มีมาตรฐานทางเทคโนโลยีเพียงพอ เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับ Platform ผ่าน Proxy Server ได้ โดยคณะกรรมการมีอำนาจกำกับดูแลผู้ให้บริการ Proxy Server รวมถึงอำนาจในการพิจารณาอนุญาตการเชื่อมต่อระหว่าง Platform และ Proxy Server หรือสั่งให้หยุดการเชื่อมต่อดังกล่าว

3) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยคณะกรรมการมีอำนาจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานการเข้ารหัสข้อมูล หลักเกณฑ์การส่งผ่านข้อมูลระหว่าง Platform และ Proxy Server รวมถึงอำนาจในการเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลหรือพิจารณาคำอุทธรณ์ของผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล นอกจากนี้ ยังมีอำนาจกำหนดมาตรฐานในการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานในโครงข่ายฯ ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลให้ความยินยอมให้ส่งข้อมูลในโครงข่ายฯ

"การพิสูจน์และยืนยันตัวในรูปแบบดิจิทัลจะลดภาระของประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนในฐานะผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่ต้องมีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อนการใช้บริการ เช่น ประชาชนจะสามารถเปิดบัญชีธนาคารหรือขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องไปแสดงตนที่สาขาของธนาคารพาณิชย์ เมื่อได้ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตนและแสดงความจำนงที่จะทำธุรกรรมดังกล่าวกับผู้ให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะ เป็นต้น"นางสาวกุลยา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ