บวท. ทยอยปรับโครงสร้างเส้นทางบินแบบ One-way Route ช่วยรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 12, 2018 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนสิงหาคมที่ผานมา มีปริมาณเที่ยวบินจำนวน 698,283 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 2,874 เที่ยวบิน ทั้งนี้คาดว่าเดือนธันวาคม 2561 จะมีปริมาณเที่ยวบินมากกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบปี 2560 ทำให้คาดว่าปี 2561 จะมีรายได้จากปริมาณจราจรทางอากาศและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยรายได้และปริมาณเที่ยวบินเติบโตประมาณ 6.7% จากปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัท แอร์บัส ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าในช่วงปี 2560-2579 ปริมาณจราจรทางอากาศทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4.4% ต่อปี และจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 15 ปี โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าทั้งภูมิภาคยุโรป (3.3% ต่อปี) และอเมริกาเหนือ (3.4% ต่อปี) เนื่องจากการเปิดเสรีทางด้านการบิน ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและการเชื่อมต่อการเดินทางเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการบริหารการจราจรทางอากาศ ของ บวท.ในยุคที่อุตสาหกรรมการบินเติบโตสูงนี้ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการการเดินอากาศที่มีศักยภาพเพียงพอในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย บวท.ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานพื้นที่ห้วงอากาศ เช่น กำหนดให้เส้นทางการบินทั้งหมดเป็น One-way Route รวมทั้งเส้นทางเข้าออกที่มี patterns ที่ชัดเจน ไม่มี conflicts ตลอดเส้นทางไม่ว่าจะขึ้นลงจากทางด้านใดของทางวิ่งในแต่ละเส้น

นอกจากนี้จะต้องประสานการใช้พื้นที่ห้วงอากาศร่วมกับหน่วยงานทางทหารเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ห้วงอากาศ (Flexible Use of Airspace: FUA) ซึ่งจะส่งผลให้การใช้พื้นที่ห้วงอากาศมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งจะพัฒนาจัดระบบความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ โดยจัด Slot Time ที่เหมาะสมของแต่ละเที่ยวบินอย่างเป็นระบบ มีการกำหนดการบินเข้าและออกจากสนามบินที่เหมาะสม (Collaborative Decision Making: CDM) จึงจะช่วยให้การทำการบินมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ท่าอากาศยานต้นทางไปจนถึงท่าอากาศยานปลายทาง

"เดิมเส้นทางการบินจะสวนทางกัน กำหนดเป็นระดับความสูง ซึ่งมีข้อจำกัดมีจุดตัดกันช่วงที่เครื่องบินไต่ระดับขึ้น-ลง บวท.หาแนวทางใหม่ ซึ่งยุโรปใช้บริหารการจราจรทางอากาศเส้นทางที่มีความหนาแน่น โดยกำหนดแบบวันเวย์ หรือเส้นทางแบบไปทาง-กลับทาง ลดการบินตัดกัน และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยใช้ในบางเส้นทางบ้างแล้ว เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและตอนล่างและภาคเหนือ แต่เนื่องจากการจัดเส้นทางการบินแบบวันเวย์จะต้องหารือทำความเข้าใจกับสายการบิน สนามบิน กองทัพ (ด้านความมั่นคง) และขออนุญาต สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่าจะสามารถใช้ระบบเส้นทางการบินวันเวย์ได้ครบทั้งประเทศใน 2-3 ปี ซึ่งเพิ่มขีดรองรับการเที่ยวบินอีก 2 เท่า หรือจาก 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี เป็น 2 ล้านเที่ยวบิน/ปี" นายสมนึก กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ