(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เตรียมเปิดรับฟังความเห็น CPTPP จากส่วนกลาง 19 ก.ย.นี้ ก่อนเสนอระดับนโยบายตัดสินใจต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2018 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จัดสัมมนาเรื่อง "โอกาสและความท้าทายของไทย ในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรี CPTPP" เพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่อง CPTPP จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เกษตรกร นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนผู้สนใจ ในวันที่ 19 กันยายน 2561 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากที่จัดรับฟังความเห็นแล้วที่ชลบุรี เชียงใหม่ และสงขลา

สำหรับการจัดสัมมนารับฟังความเห็นเรื่อง CPTPP ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP ของไทย สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้แสดงความสนใจที่จะให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน เพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และจัดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ก่อนรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านประกอบการนำเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป

ในการสัมมนาครั้งนี้ กรมฯ ได้เชิญวิทยากรที่เชี่ยวชาญจากภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาครัฐ มานำเสนอข้อมูลภาพรวมความตกลง CPTPP และประเด็นปลีกย่อยต่างๆ ตั้งแต่การเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน ประเด็นเกษตร การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นด้านสาธารณสุข กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เข้าใจสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ก่อนที่จะเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองทั้งในด้านประโยชน์และผลกระทบที่จะได้รับจากการเข้าร่วมสมาชิก CPTPP อย่างเต็มที่

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสัมมนารับฟังความเห็นต่อการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และนอกจากการจัดสัมมนารับฟังความเห็นแล้ว กรมฯ ยังเปิดให้ประชาชนผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.go.th) โดยได้เผยแพร่ข้อมูลสาระสำคัญของความตกลง CPTPP ไว้ในเว็บไซต์กรมฯ ด้วย เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ให้ผู้สนใจสามารถเข้าใจสาระสำคัญและร่วมแสดงความเห็นต่อความตกลง CPTPP ได้อย่างเปิดกว้าง ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนจะจัดสัมมนาอีกครั้งในวันที่ 26 กันยายน 2561 ณ โรงแรมพูลแมน จังหวัดขอนแก่น โดยหลังจากรับฟังความคิดเห็นเสร็จ กรมฯจะรวบรวมผลเสนอคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณา ซึ่งจะมีการนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก 30 หน่วยงาน ที่ได้ตั้งขึ้นเป็นคณะทำงานพิจารณาในแต่ละเรื่องรวม 18 คณะมาพิจารณาประกอบด้วย เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมด จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป ตั้งเป้าหมายจะเสนอครม.ภายในสิ้นปีนี้

นางอรมน กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วม CPTPP เพราะเห็นว่ามีโอกาสในการเพิ่มการค้า การลงทุน เพราะตลาดใหญ่ขึ้น โดยปัจจุบันการค้าไทยกับประเทศต่างๆ ในโลก สัดส่วน 1 ใน 3 เป็นการค้าขายกับสมาชิก CPTPP ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น จากการลดภาษีและการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการค้าลงมา และยังช่วยดึงดูดการลงทุน ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐาน

ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมา สมาชิก CPTPP ได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี

ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ คาดว่า CPTPP จะมีผลใช้บังคับต้นปี 2562 และหลังจากนั้นจะเปิดรับสมาชิกใหม่ ดังนั้น ภารกิจสำคัญของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คือการศึกษาวิเคราะห์ ผลดี ผลเสีย ของการเข้าร่วม และจัดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ต่อไป โดยปัจจุบัน ประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เพิ่มเติม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ จีนไทเป (ไต้หวัน) และโคลอมเบีย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ