(เพิ่มเติม) ครม.ไฟเขียวคืน VAT ส่วนหนึ่งจากการซื้อสินค้าให้กับผู้มีรายได้น้อยเพิ่มอำนาจซื้อ-ออม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 18, 2018 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้มีรายได้น้อยในการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อสินค้า โดยจะแยกเป็น 3 ส่วน คือจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บไปทั้งหมด 7% นั้น จะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ถือบัตรต้องเสียจริง 1% โดย 5% จะคืนให้กับผู้ถือบัตร โดยจ่ายคืนผ่าน e-money เพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าในร้านธงฟ้าและร้านที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล ส่วนอีก 1% จะนำเข้าสมทบในกองทุนการออมแห่งชาติของบุคคลดังกล่าว หรือนำเข้าบัญชีไว้ แต่ทั้งนี้วงเงินคืน VAT จะต้องไม่เกิน 500 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ โครงการคืนภาษี VAT ดังกล่าว จะมีระยะเวลาเพียง 6 เดือน คือเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.61 - 30 เม.ย.62 เป็นมาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษี VAT ที่ผู้มีรายได้น้อยชำระ ซึ่งกระทรวงการคลัง ระบุว่า การที่ผู้มีรายได้น้อยใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐชำระค่าสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น หากผู้ขายเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ราคาสินค้าจะมีภาษี VAT รวมอยู่ด้วยในอัตรา 7% ทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องรับภาระภาษีในส่วนนี้

"ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้เกิดการออมเงินในกลุ่มของผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนให้มีจำนวนผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายรัฐบาล จึงเห็นควรกำหนดเป็นมาตรการดังกล่าวออกมา" พล.ท.สรรเสริญระบุ

สำหรับข้อมูลจำนวนภาษี VAT ที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระราคาสินค้าและบริการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ไม่รวมสินค้าและบริการที่มีภาษีสรรพสามิต) ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือร้านค้าเอกชนที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะนำส่งให้กรมบัญชีกลางผ่านระบบที่ธนาคารกรุงไทย ได้พัฒนาเพื่อรองรับการทำงานนี้ (เครื่องบันทึกการเก็บเงิน : Point of Sale หรือ POS) เพื่อนำไปประมวลผลคัดแยกจำนวนภาษี VAT 7% ออกจากราคาสินค้าและบริการที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปจริงในแต่ละเดือน โดยจะกันไว้ 1% ซึ่งเป็นภาษี VAT ที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระราคาสินค้าและบริการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ แล้ว

ส่วนที่เหลืออีก 6% จะแบ่งเป็น 5% เพื่อให้กรมบัญชีกลางโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ในแต่ละเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ส่วนที่เหลืออีก 1% จะโอนผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้กับบัญชีของผู้มีรายได้น้อยที่เป็นสมาชิก กอช. แต่หากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ที่ขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิก กอช. ให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารต่างๆ เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากระยะยาวรองรับการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ ดังกล่าว โดยให้ธนาคารพิจารณาผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งยกเว้นค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ