พาณิชย์ จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Franchise B2B ต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ 26-27 ก.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday September 23, 2018 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่โครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถกระจายรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก นายสนธิรตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการสร้างงาน - สร้างอาชีพ - สร้างรายได้ให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงาน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงถาวร ผ่านโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ

"กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากของกรมฯ โดยจัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพ Franchise B2B ขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 27 กันยายน 2561 นี้ ณ กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ เพื่อนำเสนอศักยภาพของธุรกิจที่ผ่านหลักสูตร B2B และนำเสนอธุรกิจแฟรนไชส์ที่เงินลงทุนไม่สูง มาเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพ" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าว

โดยภายในงานแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 วันที่ 26 กันยายน 2561 เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ หลักคิด และวิธีการเลือกลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้สนใจเลือกซื้อธุรกิจ มีข้อมูลสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ได้อย่างมั่นใจ โดยจัดขึ้น ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน และผู้ที่สนใจที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ส่วนที่ 2 วันที่ 27 กันยายน 2561 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ จะมีพิธีมอบวุฒิบัตร Franchise B2B รุ่นที่ 21 แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านหลักสูตร "สร้างธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ (Franchise B2B) รุ่นที่ 21 ประจำปี 2561 จำนวน 121 กิจการ ส่วนที่ 3 วันที่ 26 - 27 กันยายน 2561 ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ เป็นการแสดงสินค้าและธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน กว่า 80 ธุรกิจ ประกอบด้วย ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 62 ธุรกิจ ธุรกิจค้าปลีก 8 ธุรกิจ ธุรกิจบริการ 8 ธุรกิจ และธุรกิจความงาม/สปา 2 ธุรกิจ ผู้สนใจสามารถเลือกลงทุนกับธุรกิจแฟรนไชส์ได้ ซึ่งจะมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching)

โดยแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมงานจะเป็นแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง สามารถจับต้องได้ ทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย ผู้ว่างงาน หรือผู้ที่สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์แต่มีเงินไม่มากก็สามารถเลือกลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการได้ ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ประสานงานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินร่วมให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เข้าร่วมงานฯ ด้วย โดยจะคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราพิเศษ ทำให้ผู้กู้สามารถชำระคืนเงินต้นได้แบบสบายๆ ไม่กดดัน

"แฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นแฟรนไชส์ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ และเป็นธุรกิจง่ายๆ ที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยแฟรนไชส์ดังกล่าวฯ จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงและความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ว่างงานส่วนใหญ่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ดังนั้น การมีพี่เลี้ยงจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ในการก้าวเข้าสู่การมีอาชีพอย่างเต็มตัวอีกด้วย" นางกุลณี กล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญ คือ มีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ และเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่รัฐบาลใช้ในการสร้างงาน - สร้างอาชีพ - สร้างรายได้ แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ว่างงาน

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังมั่นใจว่า ระบบแฟรนไชส์จะสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ และสามารถยกระดับผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพที่มั่นคงมากขึ้น รวมทั้ง จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประตูสู่ความสำเร็จของชีวิต ทำให้การดำรงชีพในระยะยาวของผู้มีรายได้น้อยเอง และครอบครัว มีความมั่นคงมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ